แม่ท้องสามารถทาเล็บได้หรือไม่

3/5 - (2 votes)

Q : แม่ท้องอยากทาเล็บแม่ท้องสามารถทาเล็บได้หรือไม่ อย่างไรคะ หนังสือบางเล่มว่าทำได้ บางเล่มไม่แนะนำ

A : โดยปกติหญิงตั้งครรภ์ทุกคน ควรหลีกเลี่ยงสารเคมีทุกชนิด เพื่อลดโอกาสการรับสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ อาจทำให้เกิดความพิการเกิดขึ้นได้ แต่ยังไม่เคยมีรายงานในเรื่องของสารเคมีที่อยู่ในยาทาเล็บ ดังนั้น จึงไม่มีการห้ามเป็นกิจลักษณะ โดยส่วนตัวหมอเอง ปกติก็เป็นคนรักสวยรักงาม ทาเล็บเวลาต้องออกงานอยู่บ่อยๆ ก็พอจะคุ้นเคยกับยาทาเล็บอยู่บ้าง บางยี่ห้อกลิ่นแรง สารเคมีแรง ทาแล้วเล็บเหลือง ผิวหน้าของเล็บกร่อนบางหลังล้างออกแม้ว่าทาไปไม่กี่ชั่วโมง โดยเฉพาะยาทาเล็บที่ขายตามตลาดนัดราคาขวดละ 5-10 บาท อาจอันตรายเกินไป น่าจะเป็นแค่สารเคมีผสมสีทั่วไป แบบนี้ก็สวยแบบเสี่ยงๆ ไปหน่อย ไม่คุ้มที่ลูกของเราจะเสี่ยงไปด้วยนะคะ

 

อยากบอกคุณแม่ทุกคนว่า ความสวยของการเป็นแม่อยู่ที่ความสุข ซึ่งแสดงออกมาจากภายใน การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ รักษาสุขอนามัยให้สะอาด ผิวพรรณสดชื่น ตัดเล็บให้พองาม ไม่มีขี้เล็บ ซอกขี้ไคลตามตัว นั่นคือสวยที่สุดแล้วค่ะ เมื่อสุขภาพแข็งแรง เลือดไหลเวียนดี เล็บจะมีเลือดฝาดใต้เล็บ ดูสะอาดสวยงามมากๆ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาทาเล็บเลยค่ะ

Q : ออกกำลังกายแบบปลอดภัยแม่ตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายรูปแบบไหนถึงจะปลอดภัย เพราะตอนนี้ทั้งโยคะ แอโรบิค ไม่แน่ใจว่าควรเลือกแบบไหนค่ะ

A : การออกกำลังกายในคุณแม่แต่ละท่านมีความเหมาะสมไม่เหมือนกันในแต่ละคน เพราะมีปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น ความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้ง การคลอดก่อนกำหนดจากเรื่องของอายุแม่ การตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ เช่น มีสภาวะรกเกาะต่ำ ดังนั้น คุณแม่ควรถามคุณหมอที่ดูแลก่อนว่า ในกรณีของเรามีความเสี่ยงหรือไม่ สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติหรือไม่

ถ้าคุณแม่ที่ไม่มีความเสี่ยงใดๆ สามารถทำได้ทั้งโยคะ แอโรบิค ในช่วงการตั้งครรภ์เริ่มต้นจนประมาณ 6-7 เดือน จะไม่สามารถออกกำลังได้เหมือนปกติแล้ว เพราะขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น อาจไม่เอื้ออำนวยต่อโยคะบางท่า หรือแอโรบิคที่ต้องรับน้ำหนักหน้าท้องมากเกิน แต่ยังสามารถทำได้โดยลดการรับน้ำหนักที่มากเกิน เช่น ใส่ชุดพยุงหน้าท้อง ลดการกระโดด การเคลื่อนไหวที่เร็วเกินไป หรือใช้ตัวช่วย เช่น การแอโรบิคในน้ำ เพื่อให้น้ำเป็นตัวช่วยพยุงน้ำหนักหน้าท้องค่ะ

Q : เตรียมพร้อมเรื่องนมแม่ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 3 เดือน ตั้งใจให้นมแม่กับลูกเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเตรียมตัวให้มีน้ำนมเยอะๆ เช่น การกินอาหาร ออกกำลังกาย เป็นต้น

A : ฮอร์โมนการสร้างน้ำนมจะเริ่มสร้างได้หลังคลอด ดังนั้น ไม่มีวิธีการเตรียมตัวให้มีน้ำนมเยอะขณะตั้งครรภ์นะคะ ในทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่มีทฤษฎีเกี่ยวกับอาหารเรื่องการเพิ่มน้ำนม มีแต่ในเรื่องของความเชื่อและถือปฏิบัติกันมาแล้วได้ผล เช่น การดื่มน้ำเยอะๆ ก็พอจะอธิบายได้ในเรื่องของการเพิ่มการไหลเวียนเลือดในร่างกาย ทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณเต้านมมากขึ้น ช่วยให้มีการสร้างน้ำนมที่ต่อมน้ำนมมากขึ้นได้ ส่วนสมุนไพรหรืออาหาร หมอก็ไม่รู้จะอธิบายในทฤษฎีไหนดี เพราะวิทยาศาสตร์ตำราแพทย์ไม่ได้เขียนเอาไว้ แต่คุณแม่หลายท่านทำก็ได้ผลดี เช่น น้ำขิง ผัดขิง ขิงสด แกงเลียง แกงส้มดอกแค

ทฤษฎีที่มีในตำราแพทย์ คือ การกระตุ้นเต้านม โดยให้ลูกดูดบ่อยๆ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนที่ต่อมใต้สมอง โดยสั่งงานให้มีการทำงานของต่อมน้ำนมเพื่อสร้างน้ำนมอีกที โดยการกระตุ้นต้องมีอย่างน้อยทุก 3 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วงเดือนแรกหลังคลอด แนะนำว่าควรตั้งนาฬิกาปลุกมาอุ้มลูกเข้าเต้า แล้วกระตุ้นให้ดูดเลย แต่ถ้าลูกไม่ยอมดูดหรือมีการหลับยาวตอนกลางคืน คุณแม่ก็ต้องปั๊มนม ใช้เครื่องเป็นตัวกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำนม

การเตรียมตัวขณะตั้งครรภ์ที่อยากเสริมคือ การเตรียมหัวนม โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีหัวนมสั้น บอด ควรยืดขยายหัวนมบ่อยๆ เพื่อให้พร้อมกับการดูดของทารกหลังคลอดถ้าไม่แน่ใจว่าหัวนมปกติหรือไม่ แนะนำให้ขอคุณหมอที่ฝากครรภ์อยู่ช่วยดูให้ และสอนวิธีเตรียมหัวนมให้นะคะ

Q : วิธีคลายร้อนปกติต้องใช้แป้งเย็นทาตัวเป็นประจำ อยากถามคุณหมอว่า ถ้าตั้งท้องจะสามารถทาได้ปกติหรือเปล่าคะ

A : ทาได้ตามปกติค่ะ ไม่มีอันตราย แป้งเย็นทาหลังอาบน้ำเย็นสบายดีนะคะ โดยเฉพาะคุณแม่บางท่านมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงเนื่องจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ มีอาการหงุดหงิด ถ้าให้งดทาแป้งคงอาละวาดแน่เลย ชวนคุณสามีอาบน้ำประแป้งด้วยกันมีความสุขตามประสาครอบครัวดีนะคะ

Q : ลมชัก มีผลกับการตั้งครรภ์หรือไม่หากคุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น เป็นลมชัก จะมีผลกับการตั้งครรภ์หรือไม่ อย่างไรครับ

A : ถ้าเป็นมากและต้องกินยารักษาลมชักอยู่ตลอดเวลา คุณหมอจะห้ามตั้งครรภ์ เพราะโรคลมชักยังไม่สงบ หากตั้งครรภ์จะทำให้โรคกำเริบมากขึ้น ต้องใช้ยามากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งยารักษาโรคลมชักบางตัวมีผลกับความพิการของทารก จำเป็นต้องเปลี่ยนยาหรือหยุดยาบางตัว ดังนั้น ต้องแน่ใจว่าโรคสงบแล้ว สามารถหยุดยาที่มีอันตรายได้อย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี และเมื่อตั้งครรภ์แล้ว จำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ติดตามการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินสภาวะร่างกายว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะโรคกำเริบ หรือทารกเจริญเติบโตผิดปกติหรือไม่ ถ้าติดตามดูแลอย่างสม่ำเสมอก็ไม่ต้องกังวลค่ะ

Q : วัคซีนบาดทะยักแม่ท้องจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกันบาดทะยักหรือไม่อย่างไรคะ

A : จำเป็นค่ะ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันบาดทะยักไว้ล่วงหน้าสำหรับการคลอด โดยเฉพาะในการตัดสายสะดือทารก โดยปกติจำเป็นต้องฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม คือเข็มที่ 1 เริ่มเมื่อตั้งครรภ์ในช่วง 3-4 เดือน และเข็มที่ 2 ในอีก 1-2 เดือนต่อมา แต่ถ้าคุณแม่คนไหนต้องการฉีดให้ครบคอร์ส และใช้ป้องกันไปได้นานถึง 10 ปี โดยไม่ต้องฉีดซ้ำอีก ให้ฉีดเข็มที่ 3 ในระยะหลังคลอด โดยทั่วไป คุณหมอจะฉีดให้แค่ 2 เข็ม เพราะหลังคลอดถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุ มีแผลตามร่างกายก็ไม่จำเป็นต้องฉีดอีก ในอดีตใช้เป็นวัคซีนกันบาดทะยักอย่างเดียว ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดเป็นวัคซีนป้องกัน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เพื่อกระตุ้นภูมิของแม่ เพราะพบว่าเด็กอ่อนที่มีเชื้อคอตีบ ไอกรน มักได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่ โดยเฉพาะจากแม่ในระยะให้นมบุตร

พญ. อัญชุลี สิทธิเวช
สูติ-นรีแพทย์และแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก

……………………

ที่มา นิตยสาร Mother&Care ฉบับเดือนตุลาคม 2556 Vol.9 NO.106
—————————————————————-

ฐิติพันธุ์ชมสว่างเป็นผู้ฝึกสอน CrossFit อายุ 40 ปีจากประเทศจีนฮ่องกง เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 15 ปีก่อน เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีและมีรูปร่าง เธอแต่งงานแล้วและมีลูกชายคนแรกและใช้เวลาว่างของเธอในการฝึกซ้อมมาราธอน
ฐิติพรรณ จอมสว่าง