‘คณิตคิดเป็นภาพ’ เปลี่ยนเลขยากๆ ให้เป็นเรื่องสนุก

3.1/5 - (9 votes)

‘คณิตคิดเป็นภาพ’ เปลี่ยนเลขยากๆ ให้เป็นเรื่องสนุก

ดร.หญิง – วรงค์ศรี แสงบรรจง ผู้คิดค้นเทคนิคการสอนคณิตศาสตร์แบบคิดเป็นภาพ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้คณิตศาสตร์เป็นเรื่องสนุก เปลี่ยนเด็กเกลียดวิชาเลข เป็นมาชอบการแก้โจทย์ปัญหายากๆ และช่วยเด็กๆ ที่สอบเลขได้คะแนนจาก 0 เป็นเต็ม 10 มาแล้ว มีเทคนิคอย่างไร มาทำความรู้จักกับคณิตคิดเป็นภาพกันเลยค่ะ

 

เส้นทางชีวิตสู่การเป็นครูคณิตศาสตร์

หญิงชอบบวกเลขมาตั้งแต่เด็กๆ 3-4 ขวบ ชอบเอาก้อนหินมาต่อเป็นตัวเลข โตขึ้นมาหน่อยบวกเลขคล่องก็ชอบบวกป้ายทะเบียนรถ แล้วเอาเลข 8 มาหาร ถ้าเหลือเศษ 1 เราถือว่าวันนี้จะโชคดี ถ้าเหลือเศษ 2 หมายถึงวันนี้อาจจะโชคไม่ดีนะ (ยิ้ม) คือเป็นเด็กที่สนุกกับการเล่นกับตัวเลขมาตลอด โตมาอีกนิดก็ชอบเล่นเกมไพ่อูโน่ (UNO คือ การ์ด เกมส์ ที่เล่นโดยการนับแต้มทิ้งไพ่จากในมือลงกองให้หมดใครหมดก่อนชนะไพ่แต่ละสี จะประกอบด้วย เลข 0- 9) พอเข้าเรียนอนุบาลเราเจอครูสอนคณิตศาสตร์ที่สวยใจดีแล้วรู้สึกประทับใจ เราอยากเป็นครูที่สวยใจดีบ้าง คือคิดมาตั้งแต่ตอนนั้นเลย

 

ต่อมาระหว่างที่เรียนประถม – มัธยมหญิงเป็นคนที่ชอบเอาโจทย์คณิตมานั่งคิด แล้วก็มีช่วยสอนเพื่อนๆ ด้วยวิธีอธิบายของเรา ยิ่งตอกย้ำว่าเราเป็นครูได้นะ ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เลือกเรียนครุศาสตร์ จุฬาฯ ด้านการสอนคณิตศาสตร์โดยเฉพาะเลย และเรียนต่อจนปริญาเอกทางด้านวิจัยการศึกษา ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบการคิดเป็นภาพขึ้น พยายามพัฒนาทฤษฎีที่ทำอย่างไรให้เด็กเรียนเลขแล้วมีความสุข ไม่แอนตี้การทำโจทย์เลข แล้วหญิงตั้งใจทำโรงเรียนสอนคณิตแมท ทาเล้นท์ (Math Talent By Dr.Ying) ขึ้นมาด้วยความตั้งใจว่า อยากให้เด็กๆ เรียนคณิตศาสตร์ด้วยความสนุก ซึ่งผ่านมา 4 ปี เราเห็นผลเลยว่าเด็กสามารถเรียนรู้ด้วยเทคนิคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ เพราะฟิตแบคที่มาจากตัวเด็กเอง รวมถึงผู้ปกครองที่มักจะบอกว่า ลูกๆ ของเขาเปลี่ยนไป ว่างก็เอาโจทย์เลขขึ้นมาทำและผลการเรียนที่ดีขึ้น (ยิ้ม) สำหรับครูนี่คือความภูมิใจที่สุด

 

ทำไมเด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์?

เหตุที่ว่าทำไมเด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์ มีหลายสาเหตุ บางคนไม่ถนัด รู้สึกว่าโจทย์ยาก ไม่ชอบคิด ท้อแท้ เบื่อหน่อย กลายเป็นเกลียดเลขในที่สุด ฉะนั้นทำอย่างไรให้ของยากเป็นของง่าย ทำเรื่องน่าเบื่อให้สนุก ซึ่งครูต้องสนุกก่อน นั่นเป็นที่มาให้หญิงสนใจคิดทฤษฎีของการคณิตคิดเป็นภาพขึ้นมา โดยมีไอเดียคือทำอย่างไรเด็กถึงจะสนุกเรียนเลขด้วยความสุข ซึ่งหญิงค้นคว้าทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ นำความรู้ตอนเรียนปริญาตรี โท เอก นำหลายๆ ตำรามาค้นคว้าด้วยตัวเองก็พบวิธีของการคิดเป็นภาพขึ้นมา ซึ่งแก้ปัญหาเรื่องที่เป็นปัญหาที่สุดของเด็ก คือไม่เข้าใจโจทย์ เราต้องทำให้เด็กเห็นภาพเพื่อเข้าใจโจทย์เสียก่อน

 

หลักการของคณิตคิดเป็นภาพ

หัวใจสำคัญของการเรียนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กๆ ก็คือเน้นการสอนคณิตศาสตร์ให้เข้าใจถึงแก่น ที่มาของเนื้อหาเรื่องนั้นๆ ซึ่งการสอนคณิตแบบคิดเป็นภาพคือการสอนให้เด็กรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส เรียนรู้และใช้สัญลักษณ์ เด็กสามารถสร้างภาพในใจและสามารถคิดย้อนกลับได้ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวเลขและสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น เด็กที่มีอายุน้อยๆ จะเรียนได้ดีที่สุดจากกิจกรรมที่ใช้สื่อรูปธรรม

 

โดยหญิงสอนผ่านสื่อการสอน ของเล่น และกิจกรรมต่างๆ เช่น เกมตกปลา ครูกำหนด ให้เด็กๆ มีปลาคนละ 3 ตัว ปลาสีแดงตัวละ 2 บาท ปลาตัวสีน้ำเงินตัวละ 7 บาท ปลาสีเหลืองตัวละ 20 บาท เด็กก็ถือโมเดลที่เป็นปลาไว้ ถ้าครูซื้อปลาสามตัว ครูต้องจ่ายเงินหนูเท่าไหร่ แล้วถ้าครูให้แบงค์ร้อยล่ะ เด็กๆ ต้องทอนเงินครูเท่าไหร่ แล้วเราก็มีธนบัตรของเล่นมาจ่ายกัน เด็กก็ได้เรื่องบวก ลบ คิดเงินทอน หรือสอนเรื่องเศษส่วน เอาโมเดลรูปสัตว์มา มีทั้งหมด 5 ตัว สีม่วง 2 ตัว สีเหลือง 3 ตัว แบบนี้เราจะเรียกว่า 2 ส่วน 5 คือ เด็กจะเห็นภาพ ซึ่งต้องสังเกต วิเคราะห์ที่มา ซึ่งสอนเรื่องได้หมดทั้งทศนิยมด้วย อยู่ที่ว่าครูจะพลิกแพลงยังไงจากสื่อการสอน แล้วเราจะมีโจทย์ฝึกทักษะให้เด็กทำ เด็กจะทำอย่างสนุกสนาน อันนี้เป็นเกมง่ายๆ ที่ยกมาเป็นตัวอย่างค่ะ

 

เกมที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์มีมากมาย เกมบางประเภทเป็นการจำลองเหตุการณ์จริงในชีวิตประจำวัน หญิงจะพาเด็กๆ ลงไปซุปเปอร์มาเกต แล้วให้เงินคนละ 100 บาท โดยมีกติกาว่า ต้องซื้อของมาให้ได้ 15 ชิ้น หรือ การซื้อ 1แถม 1 , ซื้อ 2 แถม 1 หมายความอย่างไร แล้วเฉลี่ยของนั้นตกราคาชิ้นละเท่าไหร่ หรือการเซลล์ 30 เปอร์เซนคืออะไร คิดราคาอย่างไร ซึ่งเด็กๆ จะชอบมาก ส่วนเทคนิคที่เด็กๆ ใช้เวลาทำโจทย์คือ เด็กจะวาดภาพเพราะเขามองเป็นภาพ ซึ่งก็พัฒนาเรื่องวิชั่นได้ด้วย ซึ่งต่างจากเด็กเรียนรู้โดยวิธีท่องจำหรือเทคนิคลัดๆ แล้วนำไปใช้โดยปราศจากความเข้าใจถึงที่มา ไม่รู้เหตุผล ก็อาจจะไม่ได้ฝึกเรื่องศักยภาพทางคณิตศาสตร์ค่ะ

เด็กเบื่อคณิตไปแล้วทำไงดี

โดยธรรมชาติเด็กมักจะสนใจและทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ รอบตัวอยู่เสมอ แต่เคยสังเกตไหมคะว่า ทำไมบางอย่างเขาถึงไม่สนใจเอาเสียเลย ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งสำคัญ เด็กจะปิดกั้นการเรียนรู้ทันที เมื่อไม่เห็นประโยชน์ของสิ่งนั้นๆ ไม่เข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร กับการเรียนคณิตศาสตร์ก็เช่นกัน หากเด็กต้องทำแบบฝึกหัด โดยไม่รู้จักเชื่อมโยงกับสิ่งรอบๆ ตัว ทำไปซักพักเด็กก็จะเบื่อ เพราะเขาไม่สามารถหาเหตุผลว่าทำไมเขาจะต้องทำ

 

ดังนั้น วิธีการง่ายๆ คือ อธิบายให้เขาเข้าใจถึงความสำคัญ และชี้ให้เห็นว่าคณิตศาสตร์เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันมากขนาดไหน เช่น ชวนเด็กทำอาหารหรือขนม ให้เด็กฝึกชั่งตวงวัดส่วนผสมต่างๆ, การให้เด็กรู้จักเวลา, การวัดอุณหภูมิ, พาไปจ่ายตลาด ให้รู้จักการคำนวณเงินในการซื้อของ การทอนเงิน เป็นต้น

 

ส่วนทำอย่างไรให้ลูกเก่งคณิตศาสตร์ วิธีการหนึ่ง คือ ฝึกทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ ให้เด็กเจอโจทย์ที่หลากหลาย แต่คุณพ่อคุณแม่มักจะต้องเคี่ยวเข็ญแกมบังคับให้ลูกๆ ต้องทำอยู่เสมอ เหนื่อยทั้งตัวเราเอง แถมเด็กก็เบื่อด้วย สุดท้ายเด็กก็จะมีทัศนคติไม่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ จริงๆ แล้ว เด็กสามารถจดจ่อกับการทำแบบฝึกหัดได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น โดยเฉพาะเด็กเล็ก ดังนั้นการทำแบบฝึกหัดไม่ควรทำรวดเดียวจบ แต่ใช้เวลาสั้นๆ ในแต่ละครั้ง สลับกับการทำกิจกรรมอื่นๆ บ้างเมื่อรู้สึกว่าเด็กเริ่มไม่มีสมาธิหรือไม่สนใจแล้ว พอเด็กๆ โตขึ้นก็ค่อยปรับเพิ่มเวลาให้ยาวขึ้นตามความเหมาะสมค่ะ

 

คนที่เก่งคณิตศาสตร์มีประโยชน์กับอาชีพในอนาคต คณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานความรู้ของศาสตร์อีกหลายสาขาเช่น วิศวะกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ลองนึกภาพเกษตรกรที่เก่งคณิตศาสตร์ เขาอาจได้สูตรปุ๋ยใหม่ๆ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า การนำผลผลิตไปแปรรูปจนส่งขาย ส่งออก การคำณวนต้นทุน กำไร การมีคุณสมบัติของ

คณิตศาสตร์อยู่ในชีวิตประจำวัน มีประโยชน์มากกว่าที่คิดใช่ไหมล่ะคะ

ฐิติพันธุ์ชมสว่างเป็นผู้ฝึกสอน CrossFit อายุ 40 ปีจากประเทศจีนฮ่องกง เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 15 ปีก่อน เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีและมีรูปร่าง เธอแต่งงานแล้วและมีลูกชายคนแรกและใช้เวลาว่างของเธอในการฝึกซ้อมมาราธอน
ฐิติพรรณ จอมสว่าง