คุยเฟื่องเรื่องลูก กับอาจารย์ อดัม

5/5 - (1 vote)

อาจารย์อดัม แบรดชอว์ ติวเตอร์ชื่อดัง ที่มาพร้อมเคล็ดลับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบสนุกๆ ทาง Facebook, Instagram, Twitter , YouTube ให้กับคนไทย และยังสื่อสารภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว ที่สำคัญ เขามีภรรยาข้างกาย คุณเตยมัณฑนากร พันธ์โกฏ และลูกชายวัยซน น้องออสติน แบรดชอว์ วัย 8 เดือน (ณ วันสัมภาษณ์) วันนี้มาร่วมแชร์ประสบการณ์การเลี้ยงลูกและเทคนิคสอนลูกเรียนรู้ภาษาด้วยค่ะ

 

สไตล์การเลี้ยงลูก ครอบครัวอดัม

คุณอดัม : หลักๆ คือสอนหนังสือที่สถาบัน ประมาณ 2 วันต่อสัปดาห์ รับงานบรรยายข้างนอกตามบริษัท มหาวิทยาลัย และรายการโทรทัศน์ จะหยุดก็วันอาทิตย์ ผมใช้เวลานี้แหละอยู่กับลูกทั้งวัน และตอนเย็นทุกคืนก่อนที่ลูกนอนผมจะพอมีเวลาอยู่กับลูก ให้แม่เขา และแม่ยายช่วยดูแลลูกช่วงที่ผมไปทำงาน ก็ถือว่าเป็นความโชคดีของผมที่มีแม่ยายมาช่วย พ่อแม่ผมเองมาอยู่เมืองไทยเพียงแค่เดือนเดียว ในช่วงที่น้องเพิ่งคลอด แล้วก็บินกลับไป

 

ผมคิดว่า คงไม่ตามใจเขามากเกินไป คือไม่อยากให้เขารู้สึกว่าจะขออะไร อยากได้อะไรก็ได้เลย อยากให้เขารู้ว่าอายุ 18 ต้องเลี้ยงตัวเอง แต่เดือดร้อนมา พ่อแม่ก็คอยช่วยนะ แต่เขาไม่สามารถเกาะพ่อแม่ติดไปได้ตลอด เขาต้องรู้จักความรับผิดชอบ มีวินัย เพราะพ่อแม่ผมเป็นคนชั้นกลาง ตอนที่ผมเป็นเด็ก ถูกเลี้ยงอยู่บนพื้นฐานของการดูแลตัวเอง ขณะเดียวกันก็ถูกปลูกฝังเรื่องการศึกษา ให้เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของชีวิต

 

คุณเตย : เตยทำงานด้วย เลี้ยงลูกด้วย เตยจะเลี้ยงลูกช่วงกลางวัน กับกลางคืน ไม่ได้เป็นคุณแม่เต็มตัว ไม่ได้เลี้ยงเองเต็มที่ คือ 50-50 ค่ะ เพราะต้องช่วยงานคุณพ่อด้วย เรื่องลูกคิดว่าอยากให้เขามีภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ คุณภาพชีวิต เราเป็นครอบครัวที่มี 2 วัฒนธรรมแนวคิดการเลี้ยงลูกก็คงจะนำเอาทั้ง 2 แบบมาใช้ผสมกัน เช่น เตยอยากให้เขามีอิสระที่จะแสดงความคิด ที่จะตัดสินใจเอง แต่ในเรื่องสัมมาคาราวะก็คงอิงกับวัฒนธรรมไทย ยังเน้นความเป็นไทยอยู่ คือพ่อแม่เตยเลี้ยงมาแบบอิสระ ให้เราคิดเอง ทำเอง อย่างเรื่องเรียนก็เป็นคนเลือกเองว่าจะเรียนด้านไหน อย่างไร เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ ม. 3 แล้ว พ่อแม่ก็สนับสนุนเต็มที่ เราก็เลยอยากให้ลูกเราเป็นแบบนี้

 

การศึกษา ในแบบที่พ่อแม่มอบให้ลูก

คุณอดัม : เราคงไม่บังคับลูกว่า ต้องเรียนแบบนี้ แบบนั้น เพราะสุดท้ายเขาคือคนที่ตัดสินใจเลือกเอง มีสิทธิ์เลือกว่าเขาอยากเป็นอะไร เราในฐานะพ่อแม่คือคนที่คอยสนับสนุน เรียกว่ากระตุ้นให้ไปในทางการศึกษาดีกว่า การศึกษานำมาซึ่งความเป็นคน เพราะหากเรารอบรู้ในหลายๆ เรื่องบนโลกนี้ เราจะเข้าใจว่า แต่ละคนบนโลกใบนี้ไม่เหมือนกัน เราจะรู้จักคำว่าการให้เกียรติผู้อื่น เคารพสิทธิ์ของผู้อื่น เปิดใจกว้างที่จะยอมรับคนอื่น ทั้งในแง่ทั้งความคิด ความรู้สึก เพราะจักรวาลไม่ไม่ได้หมุนรอบตัวเรา

คุณเตย : สำหรับเตยมองว่า การศึกษาไม่ใช่คำตอบของการมีอาชีพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คนเราเรียนหนังสือเพื่อเข้าสู่สังคม สามารถอยู่ในโลกของอนาคต เรียนรู้วิธีที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ และรู้จักการเข้าสังคม บ้านเรามีหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา วันหนึ่งเมื่อเขาต้องไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ สิ่งที่เขาต้องเห็นคือคนที่ต่างเชื้อชาติ อาจมาจากอินโดนีเซีย ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น ไทย เขาจะต้องเรียนรู้และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

 

วัฒนธรรมที่แตกต่างกับการเลี้ยงลูก

คุณเตย : ไม่อยากจะบอกว่าของใครดีของใครด้อย คือแต่ละคนก็มีจุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง เพียงเราเรียนรู้และมาปรับใช้กับชีวิตของเราในแต่ละเรื่อง แต่ก็มีบ้างที่บางอย่างถูกปลูกฝังมาตลอดชีวิตของเราอาจจะยากหน่อยที่จะปรับเปลี่ยน เตยคิดว่าสำหรับลูกเราเองนั้น คงต้องเตรียมคำตอบและเหตุผลให้ลูกของเราเอาไว้

คุณอดัม : ผมมองว่ามีความดีงามทั้งคู่ ไม่ได้บอกว่าอันนี้ดีอันนี้ไม่ดี ลูกผมโชคดีที่ได้อยู่ในครอบครัว 2 วัฒนธรรม เพราะเขาจะมีโลกทัศน์กว้างกว่าคนอื่น สามารถเอาเรื่องดีๆ ของแต่ละวัฒนธรรมมาใช้ ยิ่งเอาความดีงามของทั้ง 2 วัฒนธรรมเข้ามาอยู่ด้วยกันก็ยิ่งดีเลย

 

พ่อแม่สอนภาษา เริ่มต้นอย่างไรดี

คุณอดัม : ลูกผมเองส่วนมากจะพูดเป็นภาษาอังกฤษ พูดภาษาไทยบ้างเล็กน้อย เพราะแม่เขา แม่ยายผม จะพูดภาษาไทย ผมพูดภาษาอังกฤษ เพื่อให้ได้ทั้ง 2 ภาษาควบคู่กันไป สุกท้ายผมหวังว่า เขาคงเป็นเจ้าของภาษาทั้ง 2 ภาษา คืออยากบอกว่า การสอนภาษาอังกฤษให้เด็กจะต่างจากการสอนผู้ใหญ่ ที่เน้นเรื่องไวยกรณ์ คือเด็กไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นนะครับ

คุณเตย : ใช่ค่ะ (เสียงแทรกทันควัน) เราสอนเขาจากสิ่งใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน เพราะเด็กเล็กเขายังไม่มีคำถาม เขาจะแค่เลียนแบบเรา ทำความเข้าใจจากสิ่งที่เขามองเห็น เช่น ช่วงที่ลูกสามารถดูโทรทศน์ได้ แล้วเปิดการ์ตูนให้เขาดู ก็ดึงคำศัพท์ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน สิ่งรอบตัวมาพูดกับลูกบ่อยๆ ก็เป็นวิธีที่ที่เตยใช้ เพื่อให้ลูกรู้ว่าไม่ใช่แค่เรื่องที่เห็นในจอโทรทัศน์เท่านั้นนะ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงรอบตัวเขาเอง

คุณอดัม : เพิ่มเติมสักนิดครับ ว่าการสอนภาษาอังกฤษให้ลูก พ่อแม่ควรพูดให้เต็มประโยค ไม่ควรไทยคำ อังกฤษคำ หรือพูดไทยเยอะเลยแล้วแทรกภาษาอังกฤษแค่คำเดียว แบบนี้ก็ไม่ดี เพราะจะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจผิด ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้ภาษา การพูดกับเด็ก ควรพูดภาษาใดภาษาหนึ่งไปเลย เพราะมนุษย์เราไม่ได้สื่อสารด้วยคำ เราสื่อสารกันด้วยประโยค ฉะนั้น หากอยากให้ลูกพูดภาษาอังกฤษได้ พ่อแม่ควรพูดภาษาอังกฤษให้เต็มประโยคกับลูก เอาเรื่องง่ายๆ มาพูดกันครับ เช่น ฝันดีไหมเมื่อคืน? (Do you have a good dream last night?) เป็นต้น

 

สำเนียงการพูด เรื่องที่คนไทยกังวล

คุณเตย : เรื่องของสำเนียง ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้พ่อแม่พยายามใส่สำเนียงที่ถูกต้องไปด้วย เวลาที่พูดกับลูกค่ะ

คุณอดัม : อย่างนี้ครับ เราต้องแยกแยะเรื่องสำเนียงกับการออกเสียง เพราะสำเนียงนั้นมีหลากหลาย ไม่มีสำเนียงไหนที่บอกว่าถูกต้องที่สุด แต่การออกเสียงก็มีความสำคัญ เพราะหากเราออกเสียงถูกต้อง ผู้ฟังก็จะเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสารออกไป พ่อแม่ที่จะพูดภาษาอังกฤษกับลูก แต่กลัวออกสำเนียงไทยจ๋า อย่ากังวลเดี๋ยวจะทำให้เครียด ก็ค่อยๆ ฝึกฝนกัน คล้ายกับฝรั่งที่ฝึกพูดภาษาไทย ต้องเรียนรู้เรื่องการออกเสียงวรรณยุกต์แต่ละตัว ว่าเสียงสั้น เสียงยาวออกเสียงอย่างไร ภาษาอังกฤษเองก็เหมือนกัน หากเราอยากจะออกเสียงให้ถูกต้องก็ต้องมาเรียนรู้หลักการให้ถูกต้อง


ผมยกตัวการแก้ไขจุดอ่อน ในการออกเสียงการพูดภาษาอังกฤษของคนไทยก็แล้วกันครับ เอาง่ายๆ คือตัวสะกด L กับ R ต้องออกเสียงแยกจากกัน และเสียงควบกล้ำ กับ ควรออกให้ชัดเจน อย่าออกเสียงเหมือนกัน ไม่ใช่พูดภาษาอังกฤษคำว่า Play (เพลย์ แปลว่าเล่น) แต่ออกเสียงผิดเป็น Pay ที่แปลว่าจ่าย เราต้องใส่ใจเรื่องนี้ด้วย และสิ่งสำคัญคือ เราสามารถปรับปรุงให้ชัดขึ้นดีขึ้นได้ อยากให้คนไทยหันมาให้กำลังใจซึ่งกันและกันในการเรียนภาษาอังกฤษ แทนที่จะดูถูกกันว่ากระแดะหรือโง่ มันถ่วงพัฒนาการภาษาอังกฤษ

 

ประสบการณ์เลี้ยงลูก ที่อยากบอกต่อ

คุณเตย : ตอนนี้เขายังเล็กก็ไม่ได้มีอะไรที่จะเน้นเป็นพิเศษ เลี้ยงดูเขาตามช่วงวัย ตามพัฒนาการของเขา เป็นลูกคนเดียว ความสนใจต่างๆ จากคนรอบตัวก็จะไปตกที่เขา หากวันหนึ่งเราจะมีน้อง ก็คงจะเริ่มมองหาวิธีที่ทำให้เขาได้เข้าใจ เรื่องการมีสมาชิกใหม่ ให้เข้าใจว่าการมีน้อง ไม่ได้ทำให้พ่อแม่สนใจเขาน้อยลง ขณะเดียวกันการเป็นลูกคนเดียว ก็ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่จะต้องตามใจทุกเรื่องไป

คุณอดัม : คงอยากให้เขาสนุกสนานตามวัยของเขา ไม่อยากให้เขาเติบโตมากับเทคโนโลยีมากไป คือผมเห็นบ่อยมาก ที่พ่อแม่มักหยิบยื่นแท็บเล็ต มือถือให้ลูก ผมอยากให้เด็กๆ มีประสบการณ์ การเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวจากธรรมชาติบ้าง คือมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ เช่น เล่นดิน เล่นทราย ดูนก ดูต้นไม้ ยิ่งพ่อแม่เอาใจใส่ใช้เวลาอยู่กับลูก มันจะช่วยเตือนให้เราค่อยๆ ถอยออกมาจากโลกโซเชียลครับ

 

เมื่อการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด การเรียนภาษาก็คงไม่มีคำว่าสายเกินไป ที่คิดจะเริ่มใหม่ ทำใหม่ค่ะ

 

ฐิติพันธุ์ชมสว่างเป็นผู้ฝึกสอน CrossFit อายุ 40 ปีจากประเทศจีนฮ่องกง เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 15 ปีก่อน เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีและมีรูปร่าง เธอแต่งงานแล้วและมีลูกชายคนแรกและใช้เวลาว่างของเธอในการฝึกซ้อมมาราธอน
ฐิติพรรณ จอมสว่าง