ระวัง! โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในเด็กเล็ก

5/5 - (2 votes)

เรื่องโรคภัยไข้เจ็บกับเด็กตัวเล็กๆ บางครั้งก็มีความเสี่ยงจากปัจจัยและสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัวลูกที่เป็นตัวแปร แต่หากได้รู้จัก รู้ทันอาการเอาไว้ก่อน ก็น่าจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับมือ หาทางป้องกัน หรือถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ก็ไม่กังวลกันเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่มักพบได้บ่อยครั้งในเด็กตัวเล็กๆ

พญ. สุรีรัตน์ พงศ์พฤกษา  กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ หอบหืด และวิทยาภูมิคุ้มกัน จะเป็นผู้อธิบาย คลายความสงสัยในเรื่องนี้

สาเหตุการเกิด

โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2-3 ปี (เด็กก่อนวัยเรียน) กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ พบว่า การเจ็บป่วยเนื่องจากระบบทางเดินหายใจ มาจากการติดเชื้อไวรัส เพราะช่วงอายุหลัง 4-6 เดือนไปแล้ว ภูมิคุ้มกันโรคตั้งต้นที่ได้รับจากแม่เริ่มลดลง ถ้าได้รับเชื้อโรค อาการเจ็บป่วยก็เกิดขึ้นได้ บางครอบครัวที่มีเด็กอยู่ร่วมกันหลายคน หรือมีพี่ที่อยู่ในวัยเรียน ก็มีโอกาสรับเชื้อได้ และยังพบว่าเชื้อแบคทีเรีย ก็มีส่วนทำให้ลูกเจ็บป่วยได้เช่นกัน

โรคอะไรบ้าง ที่ต้องระวัง 

ไข้หวัด 

เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ที่พบได้บ่อย ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส อาการมักเริ่มด้วยการมีน้ำมูกใส ไอ จาม คัดจมูก หายใจครืดคราด ไข้ไม่สูง (ตัวรุมๆ) หากไอมาก ก็อาจกินนมน้อยลง ถ้าเด็กมีเสมหะ หลังจากกินนมก็อาจอาเจียนออกมา 

โดยทั่วไป หากคุณพ่อคุณแม่ดูแลอย่างถูกวิธีในเบื้องต้น อาการก็จะหายดีเป็นปกติ (ประมาณ 2-5 วัน) เพราะร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อออกไปเองตามธรรมชาติ แต่ก็ใช่ว่าจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าอาการป่วยของลูกดีขึ้น

ไซนัสอักเสบ

เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ใหญ่ และเด็กตัวเล็กๆ แต่หากเทียบกับโรคอื่นๆ เรียกว่าโอกาสที่จะเกิดนั้นมีน้อย เพราะไซนัสในเด็กเล็กนั้น ยังพัฒนาได้ไม่ดีพอ ต้องรอเวลาในช่วงวัยที่เด็กโตขึ้นมาอีกหน่อย 

ไซนัสอักเสบ เป็นโรคแทรกซ้อนของโรคหวัด จะเกิดหลังจากเป็นหวัด ตามปกติเด็กที่เป็นหวัด ควรจะหายภายใน 1 สัปดาห์ ถ้ามีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกเป็นเวลานาน ควรพาไปหาคุณหมอ เพราะอาการภายนอกใกล้เคียงโรคภูมิแพ้ 

หวัดเรื้อรัง ระวังเป็นภูมิแพ้

เนื่องจากโรคภูมิแพ้ เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาไวเกินต่อสิ่งแปลกปลอม ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจตั้งแต่จมูกไปจนถึงหลอดลม มีปฏิกิริยาการอักเสบเล็กน้อยตลอดเวลา (มีน้ำมูกไหลเรื้อรัง) บางครั้งมีอาการหอบคล้ายหืด พอหลอดลมตีบ ออกซิเจนเข้าไปไม่พอ เด็กก็จะพยายามหายใจให้เร็วขึ้น เวลาหายใจมีเสียงวี๊ดๆ และยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ กลายเป็นโรคอื่นๆ ได้ง่าย เช่น โรคหูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุจมูกอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ จึงควรหลีกเลี่ยงอยู่ในแหล่งชุมชนที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ และอากาศไม่ถ่ายเท และที่สำคัญก็คือสารก่อภูมิแพ้นั่นเอง

คอหรือทอนซิลอักเสบ

คอหรือทอนซิลอักเสบในเด็กก็เกิดขึ้นได้ แม้แต่ในเด็กเล็กๆ ติดตรงที่ว่า ลูกน้อยไม่สามารถบอกได้ว่าเจ็บคอ ต้องใช้วิธีสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด สัญญาณบ่งบอก อาจดูจากอาการต่อไปนี้ 

มีไข้ 

กินอาหารน้อยลงหรือไม่ยอมกินอาหาร 

น้ำลายไหล ร้องเสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยนไปจากเดิม

ต่อมน้ำเหลืองโตจนคลำหรือมองเห็นได้บริเวณลำคอหรือใต้คาง

หลอดลมอักเสบ

หลอดลมอักเสบ คือ การติดเชื้อในหลอดลม ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย อาการที่พบ คือ มีไข้ ไอมาก อาจจะไอแห้งๆ หรือแบบมีเสมหะ หายใจเร็ว บางรายมีอาการหอบเหนื่อย หรือเวลาหายใจได้ยินเสียงหายใจดังครืดคราด เนื่องจากมีเสมหะมากและเหนียว 

การรักษาอาการ บางครั้งจำเป็นต้องให้ยาเพื่อลดอาการไอ เช่น ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ และดื่มน้ำให้มากขึ้น (ลดการดื่มน้ำเย็น เนื่องจากกระตุ้นอาการไอมากขึ้น) กรณีที่ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จำเป็นต้องเพิ่มยาปฏิชีวนะตามไปด้วย 

ปอดบวมหรือปอดอักเสบ

เชื้อที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม พบได้ทั้งเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย นอกจากนี้ภาวะตัวเย็นหรืออุณหภูมิร่างกายต่ำ ก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคปอดบวมในเด็กได้ อาการของโรคปอดบวมที่พบโดยทั่วไป เด็กจะมีไข้สูง อาการไข้เกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นพร้อมกับการมีปอดบวมก็ได้ ไอมาก ไอแห้งๆ หรือไอแบบมีเสมหะ หายใจเร็ว บางรายมีอาการหอบเหนื่อยได้ หรือเวลาหายใจ จะเห็นปีกจมูกบาน บางรายได้ยินเสียงหายใจครืดคราด เนื่องจากมีเสมหะมากและเหนียว  กรณีที่เชื้อรุนแรงหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้

ป้องกัน..ก่อนเกิดโรค

– หากเริ่มต้นด้วยอาการไข้หวัดธรรมดา การเช็ดตัวเวลามีไข้ ให้ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ (ลดความเหนียวของเสมหะ) ดูแลความอบอุ่นของร่างกาย ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น ที่สำคัญ ไม่ควรปล่อยให้มีไข้สูงเกิน เมื่อร่างกายของเด็กเล็กๆ ไม่สามารถทนความร้อนได้ อาจเกิดอาการชัก 

– การดูแลเด็กเล็กเมื่อเจ็บป่วย สิ่งสำคัญคือ การสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ในเรื่องภาวะแทรกซ้อนเป็นพิเศษ ถ้ามีอาการแตกต่างจากอาการเริ่มต้น เช่น จากไข้แบบรุมๆ ก็เริ่มมีไข้สูงขึ้น น้ำมูกที่เคยใส ก็เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเขียวแทน มีอาการไอหรือมีเสมหะมากขึ้น หายใจเหนื่อย และเริ่มกินอาหารไม่ได้ ร้องกวน งอแง ผิดปกติ ก็ควรตั้งข้อสงสัย และพาไปพบคุณหมอ

ฐิติพันธุ์ชมสว่างเป็นผู้ฝึกสอน CrossFit อายุ 40 ปีจากประเทศจีนฮ่องกง เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 15 ปีก่อน เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีและมีรูปร่าง เธอแต่งงานแล้วและมีลูกชายคนแรกและใช้เวลาว่างของเธอในการฝึกซ้อมมาราธอน
ฐิติพรรณ จอมสว่าง