ลูกเบี่ยงเบนทางเพศ..กรรมพันธุ์หรือการเลี้ยงดู?

2.4/5 - (5 votes)

ลูกเบี่ยงเบนทางเพศ..กรรมพันธุ์หรือการเลี้ยงดู?

การเบี่ยงเบนทางเพศที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ บังคับให้เลิกก็ไม่ได้ สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ คือการให้ความรัก ความเข้าใจ และการยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น 

ศ.นพ. สุพร เกิดสว่าง นักวิจัยเกี่ยวกับเพศที่สาม จากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)  จะมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ

 

“กลุ่มที่เดือดร้อน และมักถูกมองในแง่ไม่ดี คือกลุ่มที่รักเพศเดียวกัน ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง และคนที่รู้สึกตัวเองว่าใจเป็นอีกเพศหนึ่ง คือหญิงใจชาย หรือชายใจหญิง อย่างเราจะบอกว่าคุณเป็นผู้ชายต้องคิดว่าตัวเองเป็นผู้ชาย ไม่ได้ สิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการอยู่ในใจ คือ ไม่อยากให้สังคมมองว่าเป็นคนผิดปกติ แต่อยากให้คิดว่าเขาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง มีความชอบธรรมที่จะเป็นอย่างนี้ ในภาพรวมแล้ว ผมมองว่าสังคมไทยยังไม่เข้าใจ เพียงแต่ว่าอาจยอมรับได้ทั้งที่ยังไม่เข้าใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ การยอมรับก็ไม่หนักแน่นชัดเจน ทัศนะทางลบที่มีต่อเกย์และกะเทย ส่วนหนึ่งเพราะเป็นความคิด ความเชื่อที่สั่งสมมานาน แล้ว ภาพของคนเหล่านี้ที่ถูกสื่อเสนอออกมามักเป็นในแง่ที่ไม่ดี กิริยามารยาทไม่เหมาะสม เป็นตลกแบบน่าสมเพศ แต่เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศแล้ว บ้านเราถือว่ายอมรับได้มากกว่า” 

 

มองความเป็นเพศอย่างเข้าใจอย่างน้อย 4 ด้าน 

 

1. รูปลักษณ์ของร่างกาย หรือกายวิภาค ว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง 

 

2. ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงหรือชาย โดยทั่วไปคนที่มีร่างกายเป็นเพศชาย ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชาย แต่คนที่ร่างกายเป็นชายบางคน  อาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง เกิดมาใจก็เป็นผู้หญิง ไม่ได้แกล้งทำ บางคนเกิดมารูปร่างเป็นผู้หญิงแต่ใจเป็นผู้ชาย คนทั่วไปก็อาจจะไม่เข้าใจ คิดว่าเขาแกล้งทำ เด็ก 2-3 ขวบอาจเป็นแล้ว บางคนถูกพ่อแม่ดุเรื่อยมาว่าหนูเป็นผู้ชายทำไมทำตัวเป็นผู้หญิง เด็กไม่เข้าใจ เขาก็ทำตามความรู้สึก เมื่อพ่อแม่เตือนบ่อยๆ จึงเกิดความสับสน

 

3. ความรักทางเพศ หรือรสนิยมทางเพศ  คนทั่วไปในสังคมจะรักเพศตรงข้าม แต่มีบ้างที่รักเพศเดียวกัน เป็นผู้ชายแต่รักผู้ชายด้วยกัน หรือผู้หญิงแต่รักผู้หญิงด้วยกัน ขณะที่บางคนมีความโน้มเอียงว่ารักได้ทั้งสองเพศ 

 

4. การมีความสัมพันธ์ทางเพศ คนส่วนใหญ่มีเพศสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม แต่บางคนอาจมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน มีทั้งที่อยากมีกับเพศเดียวกัน หรือทำเพื่อเงินเป็นอาชีพเลี้ยงตัว 

 

***ผู้ชายมีหลักๆ สามกลุ่มคือ กลุ่มผู้ชายที่รักผู้หญิง (เพศตรงข้าม – ต่างเพศ) ซึ่งสังคมทั่วไปยอมรับ กลุ่มผู้ชายที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชาย แต่รักผู้ชายด้วยกัน (เพศเดียวกัน-ร่วมเพศ) ซึ่งมักนิยามตัวเองว่า เกย์ (Gay) มาจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษที่แปลว่า สดใส ร่าเริง และกลุ่มผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิง หรือเป็นผู้หญิงที่อยู่ในร่างของผู้ชายนั่นเอง คำไทยมักใช้คำว่า “กะเทย” (Transgender หรือ Transsexual) ซึ่งมีทั้งที่ยังไม่ได้ทำผ่าตัดแปลงเพศ หรือทำแล้ว

 

 

สาเหตุของการเบี่ยงเบนทางเพศ

 

ปัจจุบัน มีงานศึกษาวิจัยจำนวนมากที่ระบุสาเหตุเพื่อหาทางป้องกัน แต่ก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด มีเพียงข้อสันนิษฐาน เช่น พบว่าการเป็นเกย์อาจมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยมีสิ่งบ่งชี้ อาทิ ฝาแฝดจากไข่ใบเดียวกัน ส่วนมากเมื่อเป็นเกย์มักจะเป็นทั้งคู่  แม้จะเลี้ยงดูต่างกัน หรือแม่บางคนที่ตั้งครรภ์ทารกเพศชายแล้วได้รับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลบางอย่าง อาจทำให้เด็กมีแนวโน้มเป็นผู้หญิง เป็นต้น จึงมีการสรุปสาเหตุที่พบได้ ดังนี้ 

 

1. สาเหตุทางด้านชีววิทยา : พันธุกรรม การพัฒนาสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มีการศึกษาพบว่า คนที่เป็นเกย์มีโครโมโซมผิดไปจากชายทั่วไป (Xq28) แต่มีข้อแย้งว่า เกย์บางคนก็ไม่มีโครโมโซมอันนี้ หรือผู้ชายทั่วไปก็มีโครโมโซมแบบเดียวกันนี้ได้เช่นกัน 

 

2. สาเหตุทางจิตวิทยา และสังคมวิทยา : การอบรมเลี้ยงดู เช่น ถ้าเด็กผู้ชายใกล้ชิด หรือติดแม่มาก มีโอกาสเป็นโฮโมเซ็กชวลได้มาก ซึ่งในกรณีนี้อาจมีผลมาจากเด็กผู้ชายมีลักษณะโน้มเอียงไปทางผู้หญิงอยู่แล้ว ทำให้พ่อซึ่งต้องการให้ลูกชายเป็นผู้ชาย มักจะดุว่า หรือรำคาญ เข้ากับลูกไม่ได้ เด็กจึงต้องเข้าหาแม่ อยู่ใกล้ชิดกับแม่มากขึ้น ก็ได้ 

 

เมื่อเด็กมีแนวโน้มว่ามีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ 

 

– เกย์ และกะเทย จะเริ่มรู้สึกว่าตนเองต่างจากเพื่อนเพศเดียวกัน ตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ หรือเมื่อเริ่มจำความได้ โดยจะจดจำว่าพ่อแม่ตักเตือนอยู่เสมอว่าอย่าทำตัวเป็นผู้หญิง ซึ่งอาจสร้างความรู้สึกกดดันภายในจิตใจ ในด้านพฤติกรรมจะมีความรู้สึกอ่อนไหว ร้องไห้ง่าย กิริยามารยาทคล้ายเด็กผู้หญิง ชอบแต่งตัว ชอบเล่นกับกลุ่มเพื่อนผู้หญิง ไม่ชอบเล่นรุนแรง เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น จะมีความรู้สึกทางเพศกับเพศเดียวกันแตกต่างจากผู้ชายทั่วไป 

 

– เมื่อพ่อแม่สังเกตพฤติกรรมบางอย่างของลูกเป็นดังที่กล่าวมา อย่าเพิ่งแน่ใจว่าเขาเบี่ยงเบนทางเพศ ต้องดูก่อนว่ามีสาเหตุอื่นๆ หรือไม่ ที่ทำให้เด็กแสดงออกเช่นนั้น เช่น มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง พยายามทำตัวเป็นชาย เพราะเห็นว่าแม่ถูกสามีทำร้ายมาก จึงไม่อยากเป็นหญิง ซึ่งในกรณีเช่นนี้ เราสามารถช่วยให้เขาเลิกได้ เพราะเขาไม่ได้เป็นหญิงใจชายจริงๆ 

 

– หากสังเกตแน่ชัดแล้วว่าไม่มี สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือให้ความรักความเข้าใจ ทำให้เขาเข้าใจตัวเอง และวิถีชีวิตของตนในอนาคตมากขึ้น เพราะเด็กกลุ่มนี้มักได้รับสื่อจากภายนอกว่าเป็นแบบนี้ไม่ดี คนอื่นเขาว่า หรืออายเขา เด็กยิ่งทุกข์ สับสน วิตกกังวล มีความเครียด ไม่แน่ใจในการวางตัวในสังคม พยายามปิดบังไม่ให้ใครรู้ บางคนพยายามทำตัวเป็นชายชาตรีเพื่อแสดงว่าฉันไม่ใช่เกย์ เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ พยายามจีบผู้หญิงหลายๆ คน เพาะกายให้ดูเป็นแมน แสดงตนก้าวร้าว

บางคนอาจเยาะเย้ยทับถมคนที่เป็นเกย์หรือกะเทย ขณะที่บางคนก็พยายามสร้างจุดเด่นให้ตัวเองในทางที่ดี เช่น ทำตัวดี ตั้งใจเรียน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยกิจกรรมของโรงเรียน เป็นต้น ในทางตรงข้ามบางคนอาจสร้างจุดเด่นในทางไม่ดี เช่น ดื่มเหล้า เสพยาเสพติด ทำตัวเกเร เลวให้สุดๆ หากพ่อแม่ หรือครูไม่เข้าใจ เด็กจะยิ่งทุกข์ทรมานใจมากขึ้น บางคนถึงขั้นปรึกษาแพทย์ เพื่อขอฉีดฮอร์โมนเพศชาย โดยหวังว่าฮอร์โมนเพศชายจะช่วยเปลี่ยนความรู้สึกและความต้องการในใจ ซึ่งจริงๆ แล้วฮอร์โมนเพศเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ ความเป็นเกย์หรือความคิดว่าตัวเป็นหญิงหายไปได้

 

– ระยะสับสนกังวลนี้อาจจะกินเวลานานมากหรือน้อย ขึ้นกับตัวเด็กแต่ละคน แต่เมื่อผ่านระยะนี้ไปแล้วเด็กจะเริ่มยอมรับความรู้สึกและความต้องการทางเพศของตนเองมากขึ้น ความเครียด ความวิตกกังวลจะลดลง  ต่อไปอาจพัฒนาถึงขั้นเปิดเผยตนเองต่อสังคม ซึ่งเมื่อเปิดเผยตัวเองแล้วจะใช้ชีวิตต่อไปได้ดีแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม สังคมรอบข้าง พ่อแม่ เพื่อน มีปฏิกิริยาอย่างไร ถ้าให้ความรักความเข้าใจ ให้การยอมรับ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะเป็นไปในทางที่ดี  

 

การป้องกันดูแล และความเข้าใจที่มีต่อเพศที่สาม

 

– พ่อแม่จำนวนมาก ไม่อยากให้ลูกเป็นเกย์ กะเทย หรือเบี่ยงเบนทางเพศ ไม่ใช่เพราะเกลียดชังเกย์ หรือกะเทย  แต่คิดว่าชีวิตลูกจะลำบากกว่าคนอื่น ถูกล้อเลียน ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม บางคนกลัวว่าจะไม่มีผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล นอกจากนี้ พ่อแม่คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนไม่น้อยที่มีลูกเป็นเกย์แล้วกังวลว่าลูกจะไม่ได้บวช 

 

– ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ว่า มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถยอมรับลูกได้ในช่วงแรกที่รู้ว่าลูกเป็นเกย์ กะเทย หรือเบี่ยงเบนทางเพศ ดังนั้น สื่อต่างๆ ควรให้ความรู้กับพ่อแม่ ขณะที่พ่อแม่เองจำเป็นต้องใช้เวลาปรับตัว ปรับใจ เพื่อเข้าใจลูก ต้องยอมรับให้ได้ว่า เป็นสิ่งที่เขาเลือกไม่ได้ ต้องทำให้ลูกรู้และเข้าใจว่าเขาไม่ได้เป็นคนเลว ไม่ได้เป็นคนที่มีความผิด ไม่ได้เป็นโรค ไม่ได้เป็นคนวิกลจริต ไม่ได้เป็นโรคจิต เขาก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่บังเอิญว่ามีความรู้สึกแตกต่างจากคนอื่นๆ แต่ก็สามารถเป็นคนดี และทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ 

 

– เราควรเข้าใจว่าเกย์ กะเทย หรือเลสเบี้ยน ไม่ใช่โรค ไม่มีการติดต่อ ไม่ได้แกล้งทำ ไม่มีการเลียนแบบกัน มีพ่อแม่หลายคนให้ลูกออกจากโรงเรียน เพราะที่โรงเรียนนั้นๆ มีเด็กที่เป็นโฮโมเซ็กชวลมาก กลัวว่าลูกจะติด จริงๆ ไม่มีการเลียนแบบพฤติกรรม นอกจากเด็กที่เป็นอยู่แล้ว อาจอยากเปิดเผยตัวเองมากขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

 

– สำหรับแม่ที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ต้องดูแลร่างกายให้สมบูรณ์ ไม่เครียด และไม่ควรใช้ ฮอร์โมนเพศ ยกเว้นว่ามีข้อบ่งชี้จากแพทย์  เมื่อลูกเกิดมาแล้ว ควรให้ความรัก และดูแลเอาใจใส่กับลูกอย่างเต็มที่ เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ ใกล้ชิดกับธรรมชาติบ้าง รวมถึงใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลาย เลือกโรงเรียนแบบสหศึกษา เพราะแม้จะยังไม่มีทฤษฏียืนยันอย่างแน่ชัดว่าโรงเรียนที่มีเพศเดียวจะทำให้เด็กมีโอกาสเป็นเกย์ หรือเลสเบี้ยนสูง แต่อย่างน้อยก็ทำให้เด็กได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างเพศได้ดีขึ้น

 

– ทุกวันนี้ มีเกย์ และกะเทยตลอดจนเลสเบี้ยนที่ดี และทำประโยชน์ให้กับสังคมอยู่จำนวนไม่น้อย กลุ่มคนเหล่านี้ คงจะมีความสุขมากขึ้น ถ้าสังคมยอมรับและเข้าใจมากขึ้น 

 

 

 

ฐิติพันธุ์ชมสว่างเป็นผู้ฝึกสอน CrossFit อายุ 40 ปีจากประเทศจีนฮ่องกง เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 15 ปีก่อน เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีและมีรูปร่าง เธอแต่งงานแล้วและมีลูกชายคนแรกและใช้เวลาว่างของเธอในการฝึกซ้อมมาราธอน
ฐิติพรรณ จอมสว่าง