ทำความรู้จักเด็กยุค Generation Alpha

1/5 - (1 vote)

โลกยุคใหม่หมุนไกลเกินตามทัน จนพ่อแม่ยุคนี้ต้องยอมรับว่า เราไม่อาจเลี้ยงลูกในแบบเดียว กับที่เคยถูกพ่อแม่เลี้ยงมาในอดีตได้อีกต่อไป เพราะคนในแต่ละยุคล้วนมีบุคลิกภาพ แตกต่างตามสมัย ด้วยอิทธิพลจากสิ่งรอบตัวส่งผลต่อความคิดและทัศนคติการใช้ชีวิต เราได้ยินศัพท์ใหม่ๆ ที่เรียกคนแต่ละยุคว่า Gen X บ้าง Gen Y บ้าง เพื่อให้สามารถ เรียนรู้และเข้าใจบุคคลในวัยต่างๆ ได้ดีขึ้น พ่อแม่ที่มีลูกในแต่ละเจเนอเรชั่น โดยเฉพาะเด็กเจเนอเรชั่น อัลฟ่า ที่เกิดและเติบโตมาในโลกยุคไร้พรมแดน ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจในแต่ละเจเนอเรชั่น ดังนี้ค่ะ

เริ่มจาก เบบี้บูมเมอร์ ตามมาด้วยเจเนอร์เรชั่น เอ็กซ์ หรือเจนเอ็กซ์ เจนวาย และเจนซี ส่วนเด็กๆ ที่กำลังเกิดขึ้นมายุคปัจจุบันตั้งแต่ปี 2010 ขึ้นไป เรียกว่าเจน อัลฟ่า ซึ่งแต่ละช่วงอายุคน มีความแตกต่างทางสภาพสังคมอย่างมาก

Baby Bommers เบบี้บูมเมอร์ 
1946-1964

คือกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง ปีพ.ศ. 2489-2507 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อายุประมาณ 40-60 ปี เป็นคนมีแบบแผน เคารพกฎเกณฑ์ กติกา มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท ทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว มีความอดทนแม้ความสำเร็จจะใช้เวลานาน มีความจงรักภักดีต่อองค์กร และมักอยู่องค์กรเดิมนานๆ ไม่เปลี่ยนงานบ่อย เป็นยุคที่คนใช้แรงกาย แรงสมองในการทำงานบุกเบิก

Generation X เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ 
1965-1976

เป็นกลุ่มที่เกิดระหว่าง ปีพ.ศ. 2508-2519 มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น Baby Buster, Slacker เป็นกลุ่มที่มีอายุประมาณ 30-40 ปี วัยทำงาน ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเท่ารุ่นก่อน ไม่ชอบการผูกมัด เปลี่ยนอาชีพบ่อย เลือกที่จะอยู่เฉยๆ มากกว่า ไม่ต้องการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มักต้องใช้ชีวิตตามเส้นทางที่รุ่นพ่อวางไว้ให้

Generation Y เจเนอเรชั่นวาย
1977-1994

เกิดระหว่าง พ.ศ. 2520-2537อายุช่วง 20 ปลายๆ ถึง 30 ปลาย เป็นกลุ่มที่โตมาพร้อมๆ กับ เทคโนโลยี จึงรับข้อมูลข่าวสารจากหลายๆ ด้าน กล้าแสดงออก และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความเชื่อว่าจะสำเร็จได้ต้องทำงานหนัก หากต้องเลือกจะเลือกงาน ทำให้แต่งงานช้า รักอิสระ ไม่ชอบอยู่ในกรอบและไม่ชอบการวางเงื่อนไข มีความเชื่อในศักยภาพตนเอง ติดหนี้ติดสินได้ง่าย นิยมเครดิต ชอบความสะดวกสบายทุกอย่าง

Generation Z เจเนอเรชั่นซีเกิดประมาณ
พ.ศ. 2538-2552 1995-2009

เกิดและโตมาในยุคเทคโนโลยีและโซเซียลเน็ตเวิร์ค จึงเปิดรับข้อมูลหลากหลายผ่านสื่อดิจิตอล มีทางเลือกเยอะ มีแนวทางอิสระเป็นของตัวเองชัดเจน เริ่มเรียนเร็วขึ้นและนานขึ้นกว่ารุ่นอื่นๆ ด้วยความสนใจเรื่องรอบตัวในหลากมิติ ทั้งเรื่องศิลปะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสังคม จึงทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันและโลกแข่งขันทุกอย่าง

Generation Alpha เจเนอเรชั่นอัลฟ่า
2010

เกิดตั้งแต่ พ.ศ.2553 เป็นต้นไปเป็นรุ่นลูกของ Gen Y และ Z วัยนี้กำลังเป็นเด็กอนุบาลที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีอายุมาก มีลูกน้อย มีเงินทองที่ไม่ต้องดิ้นรนมากเท่ารุ่นอื่น จับอุปกรณ์ดิจิตอล สัมผัสเทคโนโลยีตั้งแต่เกิด เรียนกันมาก นานและหลากหลาย อยู่กับสังคมทุนนิยม มีแนวโน้มเป็นคนวัตถุนิยม คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง เบื่อง่ายและความอดทนต่ำ นิยมความรวดเร็วทันใจ จึงมองหาสูตรความสำเร็จที่จะทำให้ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย

ดังนั้นเด็กยุคปัจุบันนี้ไม่ใช่เป็นรุ่นเจเนอเรชั่น Z แล้ว แต่เป็นเจเนอเรชั่นรุ่นอัลฟ่า ที่มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น การปฏิสัมพันธ์กับบ้าน โรงเรียน วัด น้อยลง ซึ่งถ้าคนเราไม่มีความรักความผูกพันแล้ว ความเอื้ออาทรก็จะไม่มี ถ้าปล่อยให้สังคมเป็นสภาพแบบนี้ก็จะเกิดปัญหา

รศ. นพ.สุริยเดว ทรีปาตี จากสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบาย เพิ่มเติมในเจเนอเรชั่นอัลฟ่าว่า

“เขารู้จักแต่สังคมที่มีเทคโนโลยี เกิดมาก็มีแต่การแข่งขันกัน จนมีคนนิยามให้เด็กยุคนี้ว่า The Ipad Generation และเราปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกเรากำลังเปลี่ยนไปในแนวของดิจิตอลเวิลด์ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่เปิดรับสื่อ เรามีตัวอย่างที่บางบ้าน พ่อแม่ตั้งกฎไว้ว่า ถ้าลูกอายุน้อยกว่า 18 ปี ไม่ให้ดูทีวี แล้วเอาโทรศัพท์ที่ใช้ข้างนอก พอก้าวเข้าบ้านปุ๊บ เอาโทรศัพท์มากองไว้ที่ศูนย์กลาง แต่ก็ไม่ได้เป็นกลไกในการป้องกันเลย สุดท้ายก็ตกเป็นเครื่องมือ มีปัญหาเพราะรู้ไม่เท่าทัน อ่อนต่อโลกไป”

สังคมเปลี่ยน การเลี้ยงลูกจึงต้องเปลี่ยน

ตอนนี้เรากำลังเลี้ยงลูกหลานที่อยู่ในเจนอัลฟ่า แล้วพ่อแม่ปัจจุบันอยู่ในเจน X และ เจน Y ปล่อยให้ Baby Boommers ที่เป็นปู่ย่า ตายายเป็นคนเลี้ยง ไม่รู้จักเทคโนโลยีแล้วมาเลี้ยงเจน Z บ้าง เจนอัลฟ่าบ้าง ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะผู้ปกครองยุคใหม่บางกลุ่มก็ปล่อยให้เด็กอยู่กับแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ทั้งวันโดยไม่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม อาจจะส่งผลเสียทำให้เด็กมีสมาธิสั้นและปรับตัวเข้ากับสังคมไม่ได้

เด็กเจนอัลฟ่า ใน ‘สังคมกลางอากาศ’

ปัจจุบันสังคมมีความเป็นพลวัตสูงมาก มีสังคมใหม่เกิดขึ้นคือ สังคมกลางอากาศที่เป็นสังคมไร้พรมแดน เด็กสมัยนี้อยู่กับเทคโนโลยีมากกว่าบ้าน วัด โรงเรียน ไม่เหมือนเด็กสมัยก่อน เด็กเจนอัลฟ่าจึงมีปัญหาเรื่องปฏิสัมพันธ์ทั้งพ่อแม่และชุมชน มีปัญหาทักษะการสื่อสาร เพราะขาดการสื่อสารกันด้วยแววตา กายสัมผัส วลีสัมผัส การที่ขาดตรงนี้ทำให้เป็นเด็กไม่มีน้ำใจ ไม่รู้จักความเอื้ออาทร ที่สำคัญหากเด็กเจนอัลฟ่าไม่ได้รับการพัฒนาอะไรเลย เขาจะอยู่ส่วนตัวมากขึ้น ความผูกพันกับองค์กรและถิ่นฐานเดิมไม่มี ฉะนั้นเขาไม่จำเป็นต้องอยู่ประเทศไทยก็ได้ รากเหง้าวัฒนธรรมตัวเองอาจไม่รู้จักด้วยซ้ำไป ทักษะการสื่อสารก็ไม่มี กลายเป็นโลกแห่งดิจิตอลเทคโนโลยีหมด คุมไม่ได้ กระแสโซเชียลมีเดียหากรู้ไม่ทันก็โดนล่อลวง สภาพแบบนี้มันจะเกิดขึ้นอีกมากหากเราไม่รับมือ

 

แนวทางการเลี้ยงเด็กยุคใหม่ เจนอัลฟ่า

เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้สภาพของสังคมกลายเป็นสิ่งที่อยู่กลางอากาศหรือไร้พรมแดน ทั้งจากโซเชียลเน็ตเวิร์คและโซเชียลมีเดียที่อยู่ในมือ ส่งผลให้เด็กในยุคนี้ยึดติดกับตัวเอง ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้ใหญ่ หรือ ผู้ปกครอง ควรใช้แนวคิดเลี้ยงลูกแบบบันไดสามขั้น คือ รับฟังความคิดความรู้สึกของเด็ก แล้วสะท้อนความรู้สึกของเราเอง ก่อนจะโยนโจทย์ปัญหาให้ลูกได้ลองคิด และแก้ไขจากมุมของตัวเด็กเอง

รวมไปถึงการเลือกรับสื่อกับเด็ก พ่อแม่ควรใช้สื่อให้สร้างสรรค์ ควรจะต้องมีการเหลาความคิดให้รู้เท่าทันสื่อ ภาพความรุนแรงในละคร สามารถนำมาเหลาทางความคิด โดยครอบครัวหรือโรงเรียน ให้คำแนะนำในเชิงสร้างสรรค์ โรงเรียน บ้านและชุมชม ควรต้องกลับมาพัฒนาศักยภาพของเด็ก และร่วมกันหาทางรับมือกับสิ่งใหม่ๆ รวมทั้งไม่ให้เด็กๆ กลายเป็นพวกวัตถุนิยม บริโภคนิยม โดยการติดอาวุธทางปัญญาให้กับเด็ก เพราะโลกในยุคปัจจุบันเป็นทั้งโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือน ท่ามกลางสังคมแบบนี้ทำให้เด็กจำเป็นต้องอยู่คู่กับโลกทั้งสองแบบ ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องสอนให้ลูกมีความรู้เท่าทัน

 1 พัฒนาทักษะการรู้คิด

ผู้ปกครองต้องมีการพัฒนาสมองในส่วนการรู้คิดให้กับลูกตั้งแต่เด็ก ฝึกให้ลูกคิดและวิเคราะห์เป็น เพราะบางครั้งการสอนแบบอบรมสั่งสอนอาจใช้ไม่ได้ผล ซึ่งการสอนให้เด็กคิดและวิเคราะห์นั้นเริ่มได้ง่ายๆ จากการชวนกันตั้งคำถาม ข้อสังเกต ให้เด็กรู้จักวิธีแก้ปัญหา การคิดอย่างมีวิจารณญาณไตร่ตรอง คือคิดว่าเรื่องที่ได้ฟัง ได้เห็น ได้รู้นั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ สมควรเชื่อถือไหมสามารถพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดจากทุกด้านมารวบรวมแล้วตัดสินใจว่าสุดท้ายเป็นอย่างไร

2 ทักษะการรู้เท่าทัน

เมื่อเด็กที่คิดเป็นจะรู้เท่าทันในทุกเรื่อง และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย รู้จักคิด ตัดสินใจ วางแผน และแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง รู้เท่าทันคน ตลอดจนสามารถจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังได้ โดยพ่อแม่อาจใช้วิธีการยกกรณีศึกษาต่างๆ มาสร้างเสริมระบบความรู้เท่าทันให้กับเด็กก็ได้

3 การสร้างจิตสำนึกที่ดี

เกิดขึ้นได้จากพ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ทำดีให้เด็กดู ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตหรือการมีส่วนช่วยเหลือสังคม ปลูกฝังในสิ่งที่ดี ผู้ใหญ่ต้องใช้วิธีการสั่งสอนที่เกิดจากความรักและสัมพันธภาพที่ดี เมื่อหัวใจของเด็กเปิด สมองของเด็กก็จะเปิดตามไปด้วย เด็กก็จะค่อยๆ ซึมซับนำแบบอย่างที่ดีนั้นไปปฏิบัติจนเกิดเป็นจิตสำนึกที่ดี และกลายมาเป็นจิตอาสาร่วมกันพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมที่ดีและมีคุณภาพได้ โดยทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนช่วยกันไม่ว่าจะเป็นบ้าน ชุมชน และโรงเรียน

ที่สำคัญพ่อแม่ต้องรู้จักเปิดใจและเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งจากการรับฟัง ผู้ปกครองสามารถสังเกต ทัศนคติ มุมมอง ความคิดของลูกได้ และใช้วิธีการพูดคุย แลกเปลี่ยน สั่งสอน ปลูกฝังสิ่งที่ดีต่างๆ ลงไป เพื่อเด็กจะได้เกิดวิธีคิดที่ดีและถูกต้อง รู้จักการเสียสละ รู้จักการแบ่งบัน เป็นครอบครัวแห่งประชาธิปไตยและนำไปสู่สังคมน่าอยู่ ตลอดจนชักชวนกันเป็นสังคมแห่งจิตอาสากันทั้งประเทศ ไม่ใช่สังคมแบบตัวใครตัวมันอย่างที่เห็นได้ในทุกวันนี้

ฐิติพันธุ์ชมสว่างเป็นผู้ฝึกสอน CrossFit อายุ 40 ปีจากประเทศจีนฮ่องกง เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 15 ปีก่อน เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีและมีรูปร่าง เธอแต่งงานแล้วและมีลูกชายคนแรกและใช้เวลาว่างของเธอในการฝึกซ้อมมาราธอน
ฐิติพรรณ จอมสว่าง