“วินัย” สร้างอนาคตโลก

5/5 - (1 vote)

“ฟุตบอลไทย….จะไปฟุตบอลโลก”

“วอลเลย์บอลไทย…จะไปวอลเลย์บอลโลก”

“แบดมินตันไทย…จะไปแบดมินตันโลก”

กว่าน้องเมย์-รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันแชมป์โลก น้องนุช-นุศรา ต้อมคำ นักวอลเลย์บอล มือเซตชั้นเซียน ชาริล ชัปปุยส์ นักเตะยอดเยี่ยม หรือนักกีฬาคนอื่นจะนำเหรียญรางวัลแห่งชัยชนะกลับสู่ประเทศ จนได้รับเสียงชื่นชมยกย่องจากทั้วคนไทยและคนทั่วโลก ทราบไหมตัวช่วยสำคัญที่ทำให้นักกีฬาชื่อดังทั้งหลายประสบความสำเร็จในชีวิต คือ อะไร     

“ชาริลเป็นลูกชายเพียงคนเดียว และถูกเลี้ยงดูมาแบบไทยปนฝรั่ง ไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัวเพราะคุณแม่เชื่อว่าการเป็นนักกีฬาทำให้ลูกได้ฝึกวินัยอยู่แล้ว จึงไม่ต้องห่วงอะไรมากมาย ส่วนชาริลเองก็ไม่เคยทำให้แม่เสียใจหรือกังวลใจ การส่งเสริมให้เด็กรักกีฬาเป็นเกราะอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาจดจ่อตั้งใจและมีความมุ่งมั่น อีกทั้งเขายังมีคุณพ่อช่วยดูแลเขาด้วยอีกคนหนึ่ง”

คุณแม่ไพลิน ชัปปุยส์ บทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งจาก  ชาริล ชัปปุยส์ เทพบุตรนักฟุตบอลกับบทสัมภาษณ์พิเศษจากคุณแม่ของเขา

นักกีฬาชื่อดัง….!!!

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

  ทราบไหมตัวช่วยสำคัญที่ทำให้นักกีฬาชื่อดังทั้งหลายประสบความสำเร็จในชีวิต คือ “วินัย” ถ้าย้อนไปติดตามบทสัมภาษณ์เกือบทุกแหล่งจะพบว่าไม่เพียงนักกีฬาจะต้องใจสู้ มุ่งมั่น ตั้งใจฝึกซ้อมอย่างหนักแล้ว นักกีฬาจะต้องปฎิบัติตัวเองให้อยู่ในระเบียบวินัยด้วย เพราะเราทุกคนล้วนรู้ดีว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ จะต้องแลกมาด้วยใจที่มีพลังเข้มแข็งและมีระเบียบวินัย ชีวิตจึงจะประสบความสำเร็จได้ แล้วถ้าอยากเห็นลูกเติบโตไปเป็นนักกีฬาที่มีความสามารถจริงๆ จะต้องฝึกฝนให้ลูกรู้จักการมีระเบียบวินัยตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งไม่เพียงแค่เรื่องกีฬา ความมีวินัยก็สามารถทำให้ลูกประสบความสำเร็จในทุกเรื่องของชีวิตด้วยค่ะ ส่วนจะสร้างวินัยให้ลูกได้อย่างไรไปติดตามกันเลยค่ะ  

ระเบียบวินัย ทำไมต้องสร้าง

เนื่องจากเด็กทุกคนต้องการความเป็นอิสระเสรีภาพในการทำอะไรตามใจตัวเอง ต้องการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยวิธีการของตัวเอง โดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ ระเบียบวินัยจึงเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ลูกได้เรียนรู้วิธีตอบสนองที่ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ในสังคม การสร้างระเบียบวินัยมิใช่ตัดรอนเสรีภาพ แต่เพื่อแนะหนทางปฎิบัติตนที่ถูกต้องให้กับลูก ทำให้ลูกรู้จักอดทน อดกลั้น รู้จักยับยั้งความต้องการที่จะทำอะไรตามอำเภอใจ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้สร้างระเบียบวินัยขึ้นมา ลูกก็จะขาดการเรียนรู้ถึงกฏเกณฑ์ของสังคม ทำให้มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆในอนาคตได้

ส่งเสริมวินัยลูกรักแบบไหน…ใช่เลย

6 วิธีที่ควรทำ

1. สร้างกฏเกณฑ์บางอย่างขึ้นมาสำหรับลูก เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ หรือการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่น เช่น ให้โอกาสลูกตักข้าวกินเอง แต่ต้องให้ลูกใช้ช้อนตัก ไม่ใช้มือหยิบข้าว 

2. การที่จะทำให้ลูกเต็มใจอยู่ในระเบียบวินัยนั้นทางที่ดีที่สุด คือ ให้การยอมรับในตัวลูก ให้ความร่วมมือกับลูก แสดงความรักกับลูก กอดลูก รวมทั้งใช้คำชมเชยให้กำลังใจลูก จะมีผลทำให้ลูกเชื่อฟังพ่อแม่มากกว่าการบังคับ

3. เรื่องใดที่ต้องตัดสินใจ หรือเลือกทำ ลูกจะรู้สึกยุ่งยาก ควรกำหนดลงไปเลย เช่น เมื่อถึงเวลาต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น “ถึงเวลาต้องอาบน้ำแล้วจ้า” หรือ “ถึงเวลาต้องกินข้าวเย็นแล้วนะจ๊ะ” เพื่อให้ลูกรู้ว่าลูกต้องทำอะไรเมื่อถึงเวลานั้นเวลานี้

4. ควรออกกฎเข้มงวดเฉพาะเรื่องที่เป็นอันตรายต่อชีวิตลูกก็พอ เช่น ออกกฎห้ามไม่ให้ลูกแหย่ปลั๊กไฟ หรือออกไปวิ่งนอกถนน ห้ามเล่นไม้ขีดไฟ หรืออื่นๆ ถ้าลูกขัดขืน ควรมีบทลงโทษที่ชัดเจน แต่ต้องให้ลูกรู้ด้วยว่าตัวเองนั้นทำผิดเรื่องอะไร

5. ควรสร้างวินัยด้วยวิธีให้ลูกปรับตัวปรับพฤติกรรมให้เป็นที่ยอมรับในสังคม และรู้จักยับยั้งตัวเองโดยไม่เสียความภูมิใจในตัวเองไป เช่น ลูกปีนขึ้นไปเล่นในบางที่ที่พ่อแม่ตกลงไว้แล้วได้ แต่ลูกจะปีนขึ้นไปบนโต๊ะอาหารไม่ได้ หรือลูกรื้อของเล่นมาเล่นได้ตามใจชอบ แต่ลูกต้องรู้จักเก็บให้เข้าที่เมื่อเล่นเสร็จด้วย ห้ามทิ้งเกลื่อนกลาด เป็นต้น 

6. ถ้าต้องการให้ลูกว่าสิ่งไหนลูกควรทำ สิ่งไหนลูกไม่ควรทำ ควรจะบอกที่การกระทำนั้น เช่น “เทน้ำเลอะเทอะอย่างนี้ไม่ได้นะจ๊ะ พื้นห้องสกปรกไปหมดแล้วเห็นไหมจ๊ะ ถ้าลูกเดินไปเหยียบเข้าก็จะลื่นล้มเจ็บตัวได้จ้ะ” ซึ่งการพูดดีๆ กับลูก อธิบายให้ลูกฟังจะได้ผลในทางบวกมากกว่า

เคล็ดลับการเสริมสร้างวินัย

หลักคิดสำคัญของพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความพร้อมของวุฒิภาวะในตัวเด็ก คือ ความมีระเบียบวินัย พ่อแม่ที่คอยบอกลูกตลอดเวลา คือ พ่อแม่ที่ไม่ได้ฝึกลูกให้เตรียมรับความเป็นจริงในชีวิต ดังนั้นควรปล่อยให้ลูกมีอิสระในการคิดพิจารณาด้วยตัวเอง ถ้าเด็กรู้ว่าพ่อแม่สร้างกฎของครอบครัวอย่างถูกต้องและยุติธรรม เด็กจะยินยอมอยู่ในขอบเขตและกติกาที่พ่อแม่สร้างไว้ เพราะเรียนรู้ว่าการฝ่าฝืนกฏของบ้าน จะทำให้เกิดปัญหาทั้งต่อตัวเองและคนอื่น และนี่ก็คือพื้นฐานของการสร้างระเบียบวินัยที่สำคัญให้กับเด็กทุกคน ส่งผลให้เด็กสามารถออกไปสู่สังคมภายนอกได้และสามารถทำตามกฏกติกาได้ดีเมื่อลูกจะเล่นกีฬาที่ลูกสนใจ โดยเฉพาะชนิดกีฬาที่ต้องร่วมกันเป็นทีม

6 วิธีที่ไม่ควรทำ

1. อย่าฝึกลูกอย่างเข้มงวดกวดขัน หรือตั้งข้อจำกัดให้กับลูกมากไป หรือเร่งเร้าลูกมากเกินไป รวมทั้งอย่าใช้วิธีบังคับตายตัวไม่ยืดหยุ่น หรือใช้การลงโทษที่รุนแรง เพราะมีแต่จะสร้างแรงต้านให้ลูกตอบโต้กลับมา

2. อย่าตั้งความคาดหวังในตัวลูกว่าลูกจะต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัยหรือกฏเกณฑ์ที่พ่อแม่ต้องการให้เป็น เพราะผลที่ได้จะกลายเป็นความโน้มเอียงที่จะบังคับเข้มงวดกับลูกไม่มากก็น้อยได้ในที่สุด

3. อย่าใช้วิธีขู่ว่าจะไม่รักถ้าลูกไม่มีระเบียบวินัย ไม่ทำตามกฏเกณฑ์ เพราะลูกจะตีความไปแล้วว่าพ่อแม่ไม่รักหรือเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่รักตัวเองจริงๆ ไม่ได้มองว่าเป็นการพูดขู่หรือแกล้งพูด ซึ่งจะยิ่งทำให้ลูกแสดงอาการต่อต้านมากขึ้น หรืองอแงมากขึ้น 

4. อย่าคิดว่าตำหนิแล้วจะทำให้ลูกรู้สึกผิดและไม่ทำสิ่งนั้นอีก แต่ผลที่ได้จะกลายเป็นไปในทางลบ คือ ทำลายความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวลูก

5. อย่าทำให้เหตุการณ์เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ หรือเห็นเป็นความผิดร้ายแรง เช่น ลูกทำแก้วตกแตกเพราะถือไปวิ่งไป ไม่ควรตำหนิลูกทันที แต่ควรเก็บกวาดและปลอบลูกให้หายตกใจก่อน แล้วบอกลูกถึงสิ่งที่ควรทำไม่ควรทำ เช่น “ลูกต้องระวังอย่าถือแก้วน้ำวิ่งแบบนี้ เพราะมันจะตกแตก ลูกจะต้องค่อยๆ เดินช้าๆ จะได้ไม่ตกแตกอีก” 

6. อย่าตีลูก แม้ผลของการตีจะหยุดยั้งพฤติกรรมลูกได้ชั่วขณะ แต่ไม่ได้สอนให้ลูกรู้ว่าอะไรถูกผิด กลับเป็นการสอนให้ลูกกลัว โกรธ และแสดงความก้าวร้าวตอบโต้ อาจใช้ได้บ้างถ้าจำเป็นจริงๆ แต่ก็ไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และควรให้การตีลูกเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะมีวิธีการที่ดีกว่านี้ที่สามารถหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้

ข้อควรรู้คู่การเล่นกีฬา

      เยาวชนเป็นผู้ที่กำลังเติบโต ร่างกายจึงยังไม่แข็งแรงเต็มที่ การฝืนออกกำลังมาก เล่นแรงมาก เพราะอยากจะเอาชนะ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บกลายเป็นผลเสียระยะยาวได้ และการซ้อมมากๆ การทำท่าใดท่าหนึ่งซ้ำๆกันมากก็อาจทำให้ร่างกายบางส่วนบาดเจ็บได้มาก เช่น นักเบสบอลที่ขว้างลูกมากๆ อาจเกิดการบาดเจ็บที่ไหล่ การตีเทนนิสมากๆ อาจทำให้ข้อศอกอักเสบ ด้วยเหตุนี้สมาคมโรคเด็กสหรัฐอเมริกันจึงกล่าวการส่งเสริมการเล่นกีฬาของเยาวชนควรมุ่งหวังแต่เพียงให้เด็กติดนิสัยดีๆ คือ การเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพในระยะยาว อย่าเล่นแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อการเป็นแชมป์โลก หรือเพื่อชิงทุนการศึกษาตามใจพ่อแม่ แล้วพ่อแม่ก็ควรให้ลูกเปลี่ยนชนิดกีฬาที่เล่นไปเรื่อยๆ เพื่อค้นหาดูว่าเล่นกีฬาชนิดไหนได้ดีที่สุดสำหรับลูก

อย่าลืมแชร์เนื้อหาดีๆนะคะ ^_^

เขาหาว่าหนูเป็น…เด็กใจปลาซิว

กล่อมลูกนิทรา ด้วยนิทานฝันดี

เสริมความภูมิใจ สร้างลูกเป็นเด็กมั่น

ฐิติพันธุ์ชมสว่างเป็นผู้ฝึกสอน CrossFit อายุ 40 ปีจากประเทศจีนฮ่องกง เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 15 ปีก่อน เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีและมีรูปร่าง เธอแต่งงานแล้วและมีลูกชายคนแรกและใช้เวลาว่างของเธอในการฝึกซ้อมมาราธอน
ฐิติพรรณ จอมสว่าง