อย่าให้เจ้าตัวเล็ก เป็นเด็กนอนดึก

4.7/5 - (3 votes)

อย่าให้เจ้าตัวเล็ก เป็นเด็กนอนดึก

คุณแม่เคยปล่อยให้ลูกนอนดึกบ้างหรือไม่

…. ทำบ่อย >>>>> ดูหัวข้อ A

…. ไม่เคย  >>>>> ดูหัวข้อ B

…. มีบ้าง   >>>>> ดูหัวข้อ C

A = Answer 

คำตอบของเด็กนอนดึก

ยามค่ำคืนในยุคนี้บ้านไหนๆ ก็มีแต่แสงไฟสว่างจ้า ทั้งพ่อแม่ ลูกเล็ก เด็กแดงก็ยังไม่ยอมหลับ แต่กลับมีกิจกรรมสารพัดในยามดึก บ้างก็ดูทีวี บ้างก็เล่นเกมคอมพิวเตอร์ บ้างก็ยังเล่นซนไม่เลิก ทราบไหมคะการปล่อยให้ลูกไม่ยอมหลับยอมนอน จนพักผ่อนไม่เพียงพออย่างนี้ มีแต่ผลเสียกับพัฒนาการเด็กทั้งสิ้นค่ะ 

        เด็กจะเหนื่อยง่าย อ้วนง่าย อ่อนเพลียง่าย ร่างกายไม่แข็งแรง และไม่กระฉับกระเฉงตื่นตัว

เด็กจะโตช้า น้ำหนักส่วนสูงน้อย เพราะฮอร์โมนการเจริญเติบโตจะถูกผลิตขึ้นขณะหลับ

เด็กจะมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง รับรู้ได้ช้า เพราะสมองทำงานลดลง 

เด็กจะมีอาการหลงลืม ความจำสั้น ทำสิ่งต่างๆ ผิดพลาดบ่อย  

เด็กจะหงุดหงิดง่าย ไม่ร่าเริง แจ่มใส ดูง่วงตลอดเวลา อิดโรย และเบื่ออาหาร 

เด็กจะมีทักษะในการทำสิ่งต่างๆลดลง เพราะความสนใจจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งลดลง 

เด็กจะมีทักษะในการการฟัง และการอ่านลดลง พัฒนาการด้านการใช้ภาษาลดลง 

เด็กจะมีปัญหาพฤติกรรมคล้ายไฮเปอร์แอคทีฟ สมาธิสั้น วอกแวก เบื่อง่าย อยู่ไม่สุข

เด็กจะมีทักษะในการคิดสร้างสรรค์ลดลง สมองเสื่อม

เด็กจะมีทักษะในการคิดคำนวณวิชาคณิตศาสตร์ลดลง

เชื่อหรือไม่ 

การนอนที่เพียงพอจะช่วยเพิ่มสารนิวโรโทรฟิน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการงอกของเส้นประสาท การสร้างรอยเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท ลดการตายของเซลล์ประสาทในเด็ก โดยนักวิจัยชาวอังกฤษได้เผยผลศึกษาเด็กอายุตั้งแต่ 3-7 ขวบ ที่ได้ทำวิจัยหัวข้อการนอนหลับเวลาดึกต่อเด็ก 11,000 คน พบว่าเด็กนอนดึก หรือหลับหลังเวลา 21.00 น. จะมีความเสี่ยงด้านพัฒนาการทางสมอง และประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง ซึ่งนักวิจัยจะวัดจากทักษะการอ่าน และการคิดคำนวณในวิชาคณิตศาสตร์ที่โรงเรียน ปรากฏว่าคะแนนของเด็กต่ำลง ส่วนสาเหตุของการนอนหลับดึกนั้นมาจากที่เด็กติดตามการรับชมโทรทัศน์

B = Best

ข้อดีของเด็กนอนเร็ว

การนอนอย่างเต็มอิ่มเป็นเวลา 9 ชั่วโมง จะช่วยให้เด็กเรียนหนังสือได้ดี เพราะขณะหลับร่างกายได้พัก แต่สมองจะตื่นตัว โดยมีการสร้างจุดเชื่อมต่อใหม่ๆ ระหว่างสมองทั้งสองซีก มีการเก็บประสบการณ์ที่ได้ในแต่ละวันไว้เป็นข้อมูลเรียนรู้เพิ่มขึ้น แต่ถ้านอนไม่พอ สมองยังจัดระบบความคิดไม่เรียบร้อย เมื่อตื่นขึ้นเด็กจะมีอาการเบลอ มึนงง การเข้านอนแต่หัวค่ำจึงจำเป็นต่อพัฒนาการเด็ก ช่วยให้เด็กแจ่มใส อารมณ์ดี มีสมาธิในการเรียนรู้ ร่างกายเจริญเติบโตสมวัย เพราะช่วงที่หลับสนิทร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนในการเจริญเติบโตออกมา ทำให้เด็กไม่อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย หรือรู้สึกง่วงตลอด ทั้งยังมีโอกาสประสบอุบัติเหตุน้อยลง กลายเป็นเด็กอ้วนน้อยลงด้วย

        คุณแม่รู้ไหม 

ผลการสำรวจประชากรทั่วโลก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่พบว่ามีปัญหาการนอน ทั้งนอนไม่หลับ นอนไม่พอ นอนไม่มีคุณภาพ (นอนหลับสนิท คือ การนอนที่มีคุณภาพ) จนเกิดการนอนไม่พอเรื้อรัง ทำให้เกิดปัญหาในการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะต่างๆ สมาธิ ความจำ ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งสมองทำงานได้ช้าลง ผิดพลาดบ่อยขึ้น และสำหรับเด็กแล้วการนอนเป็นมากกว่าการพักผ่อน เพราะเป็นเวลาที่สมองจัดเรียงและเก็บข้อมูลต่างๆที่ได้เรียนรู้มาทั้งวัน โดยบันทึกความจำระยะสั้นอย่างเป็นระบบ แล้วแปลงเป็นความทรงจำระยะยาว เมื่อถึงเวลาก็หยิบมาใช้งาน ถ้ามีการจัดเก็บที่ดีก็จะหยิบมาใช้ได้สะดวกรวดเร็ว

C = Care

ดูแลเรื่องการนอน

การพาเด็กเข้านอนแต่หัวค่ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้นอนดึกบ้าง นอนแต่หัวค่ำบ้าง จนทำให้นาฬิกาชีวภาพในสมองเกิดความสับสน จะช่วยให้เด็กนอนได้เพียงพอตามความต้องการของร่างกายโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ เมื่อร่างกายได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ หน่อยความจำในสมองและเซลล์ประสาทก็ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ทำให้มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้และจดจำได้มากขึ้นตามไปด้วย 

ดังนั้นควรส่งเสริมให้ลูกได้นอนหลับให้เพียงพอตามวัย ดังนี้  เด็กวัยแรกเกิด – 2 เดือน ควรจะให้นอนหลับประมาณ 16 – 18 ชั่วโมงต่อวัน เด็กวัย 3 – 11 เดือน ควรจะให้นอนหลับประมาณ 14 – 15 ชั่วโมงต่อวัน เด็กวัย 1 – 2 ปี ควรจะให้นอนหลับประมาณ 12 – 14 ชั่วโมงต่อวัน เด็กวัย 3 – 5 ปี ควรจะให้นอนหลับประมาณ 11 – 13 ชั่วโมงต่อวัน เด็กวัย 6 – 10 ปี ควรจะให้นอนหลับประมาณ 10 -11 ชั่วโมงต่อวัน

เชื่อหรือไม่

เด็กแต่ละคนจะมีระยะเวลาชั่วโมงการนอนที่แตกต่างกันตาม Biological clock หรือที่เรียกนาฬิกาชีวภาพในสมอง ซึ่งคอยควบคุมการหลับและการตื่นที่เป็นปกติ จะเห็นได้ว่าเด็กวัยแรกเกิดส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปกับการนอน พออายุมากขึ้นก็จะนอนน้อยลง อาจทำให้คุณแม่คิดว่าลูกนอนยากขึ้น นอนไม่ได้นานเหมือนก่อน ซึ่งพฤติกรรมการนอนที่เกิดขึ้นอาจทำให้คุณแม่หงุดหงิด ไม่เข้าใจ แต่ถ้าได้รู้จักวงจรการนอนหลับ และพฤติกรรมการนอนของลูกตามธรรมชาติ ก็จะช่วยให้เข้าใจมากขึ้น แล้วก็ส่งเสริมได้ดีขึ้นตามไปด้วย

เพราะรู้จัก จึงเข้าใจ…วงจรของการนอน

การนอนหลับของคนเรามีอยู่ 2 วงจร คือ 

1. วงจรหลับสนิท หลับลึก สมองจะทำงานลดลง จะเห็นได้ว่าหน้าสงบ นิ่งเงียบ ดวงตาปิดสนิท ภายใต้เปลือกตาไม่มีการเคลื่อนไหวของลูกตา หายใจสม่ำเสมอ เด็กจะไม่ฝันในช่วงนี้เรียกว่า Non-rapid-eye-drop movement 

2.วงจรหลับตื้นจะมีการเคลื่อนไหวอย่างเร็วของลูกตา สมองมีการทำงานมาก ซึ่งเด็กจะมีความฝันเกิดขึ้นช่วงนี้ เรียกว่า REM – rapid eye movement sleep วงจรการนอนในช่วงต้นของเด็กทารกเริ่มจากการหลับตื้น แต่เมื่อโตขึ้นการหลับตื้นจะลดลง ซึ่งทั้งสองวงจรจะเกิดสลับกันเรื่อย 5-6 รอบในการนอนแต่ละคืน วงจร NREM เกิดตั้งแต่เริ่มเคลิ้มหลับ หลับตื้นจนกระทั่งหลับสนิท เด็กจะมีวงจรนี้มากเป็นพิเศษ ทำให้หลับง่าย หลับไวและหลับสนิท แล้วจะค่อยๆลดลงเมื่ออายุมากขึ้น แล้วค่อยพัฒนาความสามารถในการนอนหลับเอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กเล็กมักตื่นบ่อย เพราะวงจรการนอนสั้นและยังหลับตื้นๆ 

ถ้าเข้าใจธรรมชาติการนอนในเด็กกันแล้วก็ไม่ควรรบกวนการนอนของลูก ไม่ปลุกให้นมลูกทุกครั้งที่ลูกขยับตัว หรือลูกส่งเสียงร้องครวญครางเบาๆ แต่ใช้วิธีสังเกตอาการหรือพฤติกรรม ถ้าเห็นลูกไม่ได้เป็นอะไรค่อย ปล่อยให้ลูกหลับต่อด้วยตัวเอง เพราะเมื่อลูกไม่ถูกรบกวนการนอน ลูกก็จะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีค่ะ

ส่งเสริมลูกนอนเต็มอิ่ม Do & Don’t

Do > จัดแสงสลัว

แสงที่ส่องเข้ามามีผลต่อการนอนหรือการตื่น เด็กจะใช้ข้อมูลจากแสงที่ผ่านตา ฟ้ามีแสง คือ เวลาตื่น ฟ้ามืดไร้แสง คือ ถึงเวลานอน ควรหรี่ไฟให้สลัว หรือลดแสงให้มืดได้ยิ่งดี การนอนห้องมืดตั้งแต่เล็ก จะทำให้เด็กคุ้นเคย และความมืดยังกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเมลาโทนิน ซึ่งเป็นยานอนหลับตามธรรมชาติ ทำให้นอนหลับได้เร็วขึ้น

Don’t > ย้ายที่นอนบ่อย

เด็กก็เหมือนผู้ใหญ่ที่มักนอนไม่หลับเมื่อนอนแปลกที่ หรือถูกย้ายที่นอนบ่อย จึงควรให้ลูกนอนในที่ที่ลูกคุ้นเคย ห้องนอนเดิม ที่นอนเดิม บรรยากาศเดิมๆ เพราะเด็กมักจดจำสภาวะก่อนหลับ ถ้าเป็นที่ที่คุ้นเคยก็จะรู้สึกไว้วางใจ สบายใจ ทำให้นอนหลับได้ แต่ถ้าเป็นที่อื่นที่แปลกที่ เด็กก็จะรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ไว้วางใจ จนทำให้นอนไม่หลับ

Do > ปล่อยให้หลับต่อเอง

พ่อแม่ที่มักตอบสนองต่อการตื่นของเด็กวัยต่ำกว่า 1 ขวบที่ร้องปลุกให้ลุกขึ้นมาปลอบ อุ้ม เล่น พูดคุย เห่กล่อมให้หลับต่อนั้นจะไม่สามารถกล่อมตัวเองให้หลับต่อได้ เด็กจึงต้องเรียนรู้ทักษะการกล่อมตัวเองให้หลับต่อ คือ ปล่อยให้เด็กร้องสักพัก 5-10 นาที โดยไม่เปิดไฟ ถ้ายังไม่หยุดจริงๆ ค่อยเข้าไปอุ้มกล่อมปลอบสั้นๆ 1 นาทีให้หลับต่อ 

Don’t > ทำเสียงดัง

การปล่อยให้ลูกอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังจากรอบบ้าน เช่น เสียงสุนัขเห่าในบ้าน เสียงรถยนต์วิ่ง เสียงแตร เสียงกริ่งหน้าบ้าน เสียงเครื่องดูดฝุ่น ฯลฯ จะทำให้ลูกตกใจผวาตื่น ควรแก้โดยย้ายที่นอน ห้องนอนลูกไปอยู่ในมุมที่เงียบสงบกว่าของบ้าน ถ้าหลีกไม่ได้อาจต้องฝึกลูกให้ชินกับเสียงเหล่านี้ แต่อาจต้องใช้เวลานานกว่าปกติ

Do > สร้างสภาวะน่าสบาย

สร้างสภาวะแวดล้อมการนอนให้น่าสบาย อบอุ่น น่านอน เพื่อช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย เช่น จัดที่นอนนุ่มพอดี ปูผ้าปูที่นอนสีสันสดใส มีลวดลายที่ไม่ซับซ้อนมาก หาตุ๊กตาสัตว์นิ่มทำด้วยผ้าให้ลูกกอด ลดอุณหภูมิให้เหมาะกับการนอน 24-26 องศาเพื่อให้ลูกนอนหลับได้นานขึ้น อาจร้องเพลงกล่อมลูกเบาๆ หรือตบก้นลูกเบาๆ ให้หลับ

Don’t > มีสิ่งกระตุ้นมากไป

ลดสิ่งกระตุ้นต่างๆที่ทำให้ลูกรู้สึกตื่นเต้น หรือสิ่งที่กระตุ้นร่างกายให้กระฉับกระเฉง จนไม่อยากหลับ เช่น ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงนอนร่วมกับลูก ไม่เล่นโลดโผนกับลูก หรือให้ห้องลูกมีสิ่งรบกวนมากไป เช่น มีของเล่นมากมายรอบตัวลูก เปิดโทรทัศน์ ดูวิดีโอ หรือฟังวิทยุ ซึ่งมีทั้งแสงและเสียง จนทำให้ลูกนอนไม่หลับได้

Do > ทำกิจกรรมออกแรง

เล่นออกกำลังกับลูกตั้งแต่เล็ก หลอกล่อให้คืบคลาน เมื่อโตขึ้นให้ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายหลายอย่าง เช่น พาไปเดินเล่น วิ่งไล่จับ ออกไปจ้อกกิ้งนอกบ้าน ไปว่ายน้ำ เตะบอล ขี่จักรยาน หรือเล่นกิจกรรมสนุกตามที่ลูกชอบ การได้เล่นสนุกจนเหนื่อย จะทำให้ลูกได้ใช้พลังงาน ถึงเวลานอนก็ทำให้หลับได้ง่าย และหลับได้สนิทกว่า

Don’t > ขู่ลูกให้หวาดกลัว

ไม่ขู่ลูกให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัว กังวล ตกใจ เช่น ถ้าลูกไม่ยอมนอนก็ขู่ว่าจะทิ้งลูก ขู่ว่าจะให้ผีมาหลอก ขู่ว่าจะมีน้องใหม่ ตุ๊กแกจะมากินตับ หรืออื่นๆ ซึ่งจะทำให้ลูกฝันร้าย สะดุ้งตื่นบ่อย แล้วยังรู้สึกพ่อแม่ไม่รัก รู้สึกกังวลไม่ปลอดภัย ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ หวั่นไหวง่าย งอแง เกิดปัญหาในการนอนตามมา ดังนั้นเปลี่ยนคำขู่เป็นคำปลอบใจ บอกรักลูก ให้ลูกรู้สึกสบายใจ พร้อมที่จะนอนได้ดี และมีพัฒนาการที่ดีเพิ่มขึ้นด้วยนะคะ

 

ฐิติพันธุ์ชมสว่างเป็นผู้ฝึกสอน CrossFit อายุ 40 ปีจากประเทศจีนฮ่องกง เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 15 ปีก่อน เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีและมีรูปร่าง เธอแต่งงานแล้วและมีลูกชายคนแรกและใช้เวลาว่างของเธอในการฝึกซ้อมมาราธอน
ฐิติพรรณ จอมสว่าง