ขยิบตาบ่อยจัง ลูกเป็นโรคติ๊กหรือเปล่า

4/5 - (2 votes)

 

เมื่อใดที่เห็นลูกมีอาการขยิบตา หรือตามีอาการกระตุกบ่อยครั้ง หรือมีอาการขยับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรือขยับใบหน้าในลักษณะกระตุกซ้ำๆ ติดๆ กัน ให้สงสัยว่าลูกอาจเข้าข่ายมีอาการเป็นโรคติ๊ก (Tic) กันแล้วค่ะ

 

รู้จักโรค ติ๊ก (Tic)

 

โรคติ๊ก (Tic) คือ อาการเขม่นที่เด็กมักขยับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือใบหน้าในลักษณะการกระตุกซ้ำๆ กัน ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท เหมือนกับที่พบบนใบหน้าของผู้สูงอายุ แต่มักเกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกเครียดมาก หรืออ่อนเพลียมาก หรือใช้สายตาจับจ้องสมาร์ทโฟนมาก เล่นเกมมาก หรือตกอยู่ในภาวะสังคมก้มหน้าทั้งวัน ซึ่งเด็กในยุคออนไลน์มักเป็นกัน และอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อเด็กกลับเข้าสู่ภาวะปกติค่ะ

 

อาการที่พบ

 

อาการที่พบบ่อย คือ มุมปากกระตุก ตากระตุก และกระพริบตา ขยิบตา นอกจากนี้ยังพบอาการอื่นๆ เช่น ถอนผม เล่นผม กระแอมบ่อยๆ และสูดจมูกฟุดฟิดบ่อยๆ หรือแม้แต่การชอบเอาศีรษะกระแทกพื้นก็จัดเป็นอยู่ในกลุ่มอาการโรคติ๊ก (Tic) ที่พ่อแม่ต้องคอยระวังเรื่องการบาดเจ็บให้ดีด้วยค่ะ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดเพียงชั่วครู่แล้วหายไป ถือเป็นอาการปกติและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่ถึงแม้จะไม่ใช่อาการร้ายแรงและเป็นอันตราย แต่ก็อาจทำให้พ่อแม่รู้สึกเป็นกังวลอยู่ไม่น้อย

 

จะช่วยลูกอย่างไรดี

 

* อย่างแรก คือ ต้องไม่แสดงความสนใจหรือมีปฏิกิริยากับอาการกระตุกๆ หรืออาการเขม่นของลูกจนเกินเหตุนะคะ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกกังวลใจมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งส่งเสริมให้เกิดอาการเขม่นมากขึ้น พ่อแม่ควรทำตัวให้เป็นปกติ แม้จะรู้สึกวิตกกังวลใจไปบ้าง หรือรำคาญใจอยู่บ้างก็ต้องใจเย็นนะคะ

 

* ในกรณีที่ลูกมีอาการเหล่านี้แล้วเข้าข่ายเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น ชอบเอาศีรษะโขกพื้น จะต้องไม่ปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว พร้อมกับหาทางป้องกันโดยหาเบาะ พื้นนุ่มๆ กันลูกกระแทกศีรษะ หรือหาสิ่งนิ่มๆ มาบุไว้รอบๆ สิ่งที่ลูกชอบกระแทก เช่น ขอบเตียง ขอบโต๊ะ หรือเก้าอี้ เพื่อที่ลูกจะได้ไม่เป็นอันตราย

 

* ควรดูแลให้ลูกได้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะอาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นเมื่อลูกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย กำหนดเวลาให้ลูกเล่นสมาร์ทโฟน หรือเล่นเกมให้สั้นลง โดยพูดคุยเคลียร์กับลูกให้เข้าใจนะคะ

 

* ถ้าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันของลูก และไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาอะไรแก่ลูกทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ก็ไม่จำเป็นต้องพาลูกไปพบแพทย์ แต่ถ้าลูกยังมีอาการเหล่านี้อยู่นานเป็นเดือน หรือหลายเดือน ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นไปได้ว่าลูกจะมีความผิดปกติทางระบบประสาทหรือความผิดปกติทางด้านจิตใจ

 

 

Mother & Care Free Mag VOL.13 NO.136/13

ฐิติพันธุ์ชมสว่างเป็นผู้ฝึกสอน CrossFit อายุ 40 ปีจากประเทศจีนฮ่องกง เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 15 ปีก่อน เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีและมีรูปร่าง เธอแต่งงานแล้วและมีลูกชายคนแรกและใช้เวลาว่างของเธอในการฝึกซ้อมมาราธอน
ฐิติพรรณ จอมสว่าง