ดูแลเล็บน้อยๆ ของเจ้าตัวเล็ก

5/5 - (1 vote)

ดูแลเล็บน้อยๆ ของเจ้าตัวเล็ก

เวลาร่างกายมีปัญหาภายใน มีหลายอย่างที่บ่งบอกอาการไม่สบายนั้นๆ ที่แสดงออกมาภายนอกให้เราเห็นอย่างในอย่างหนึ่งเสมอ อาทิ ลักษณะปัสสาวะ อุจจาระ สีผิว สีปาก และอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดคือ ลักษณะเล็บ 

เล็บ เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบของร่างกายที่สำคัญและต้องหมั่นดูแลรักษา เรียกว่าเป็นหน้าด่านของความแข็งแรงก็ว่าได้ เพราะถ้าเล็บและมือสกปรก ก็ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ และโรคต่างๆ ที่อาจเกิดกับเล็บก็ต้องดูแลด้วยเช่นกัน เราตามไปดูแลเล็บของลูกน้อยกันค่ะ 

เล็บ..บอกอะไรบ้าง

เรามาทำความรู้จักกับเล็บอย่างคร่าวๆ เซลล์ที่ตายแล้ว ซึ่งจะยาวและงอกใหม่ตลอดเวลา มีโปรตีนที่เราเรียกว่า เคลาติน ซึ่งที่เล็บเป็นเคลาตินแบบแข็ง จะไม่หลุดไปเองนอกจากตัดออกเท่านั้น 

หน้าที่สำคัญของเล็บคือ ปกป้องอันตรายที่อาจจะเกิดกับนิ้ว ลองนึกดูเล่นๆ ว่าถ้าเราไม่มีแผ่นเล็บแข็งๆ คอยปกป้องนิ้ว เวลาเราทำอะไรคงได้รับบางเจ็บกันได้บ่อยๆ และนอกจากนี้เล็บยังเป็นตัวบ่งบอกสุขภาพต่างๆ ภายในร่างกายอีกด้วย 

ความแข็ง ปกติเล็บจะมีความยืดหยุ่นที่พอดี ถ้าเล็บแข็งแต่หักง่าย อาจจะมีอาการขาดสารอาหาร แต่ถ้าเล็บบางอ่อนแสดงว่าร่างกายขาดแคลเซียม หรือมีโรคเรื้อรังอื่นๆ 

สี โดยปกติเล็บจะมีสีแดงอมชมพูเรื่อๆ หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปหาคุณหมอ หลายท่านอาจจะดูเล็บ ดูริมฝีปาก ถ้ามีสีซีด ปากไม่ค่อยแดง คุณหมอมักจ่ายวิตามินเสริมธาตุเหล็กให้ลูกน้อยได้เช่นกัน 

ความเรียบ เล็บปกติจะมีผิวเรียบลื่น เป็นเงา แต่ถ้าเล็บมีร่อง เป็นเส้น เล็บแห้ง ขรุขระ มักจะมีอาการผิดปกติภายในร่างกาย เช่น ร่างกายส่งสัญญาณว่ากำลังขาดสารอาหารบางอย่าง เป็นต้น 

มีตำราแพทย์ของชาวจีน ที่เฝ้าสังเกตอาการเจ็บป่วยทางร่างกายต่างๆ ว่าจะส่งผลต่อเล็บอย่างไร ไว้อย่างมากมาย เช่น ถ้าเล็บมีร่องขวางแนวเล็บ แสดงว่าคนนั้นอาจเคยมีผลกระทบด้านอารมณ์อย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการขาดสารอาหาร หรือเคยเจ็บป่วยหนักมาก่อน เป็นต้น แต่ในที่นี่จะขอกล่าวถึงโรคที่เกิดขึ้นกับเล็บที่เราเห็นได้ชัดเจน 

อาการอะไรบ้างที่เกิดกับเล็บ

ฟกช้ำใต้แผ่นเล็บ

คืออาการบาดเจ็บที่เกิดจากการกระแทก แล้วเกิดอาการช้ำ เช่น ถูกประตูหนีบ (เด็กวัยซนเจอกันบ่อยๆหรือถูกของหนักๆ หล่นทับเล็บ ซึ่งจะทำให้เลือดออกบริเวณใต้แผ่นเล็บ 

รักษาเบื้องต้น  : ตรวจดูว่าผิวใต้เล็บช้ำมากน้อยแค่ไหน มีห้อเลือดหรือไม่ ถ้าของหนักกระแทกใต้เล็บเป็นสีม่วงคล้ำทั้งหมด ควรพาลูกไปพบคุณหมอ คุณหมออาจจะพิจารณาถอดเล็บ แต่วิธีนี้ต้องดูแลรักษามาก ต้องพาไปทำแผลทุกวันจนกว่าแผลจะแห้งดี  แต่ถ้าใต้แผ่นเล็บช้ำไม่มาก อาจหายากแก้ฟกช้ำมานวด ถ้าไม่มีแผลหรือหนอง สักพักก็จะหาย 

การติดเชื้อ 

เล็บก็สามารถติดเชื้อได้ และมีเชื้อหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีอาการแสดงออกแตกต่างกันไป 

เชื้อรา เล็บจะมีสีขาวขุ่น ผิวขรุขระ ยุ่ย ส่วนใหญ่มักเกิดกับคนที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน อาทิ โรคเบาหวาน คนที่ใช้ยาสเตรียรอยด์บ่อยๆ และการต้องอยู่ในที่อับชื้นนานๆ ซึ่งมักต้องรักษาทั้งการกินยา และทายา รวมถึงการหลีกเลี่ยงความอับชื้นต่างๆ ทำให้การเกิดเชื้อราที่เล็บนั้นเป็นโรคที่หายได้ค่อนข้างยาก และใช้เวลานาน ถ้าสงสัยว่าเป็นเชื้อราที่เล็บหรือไม่ควรปรึกษาคุณหมอ ไม่ควรซื้อยามาทาหรือกินเอง เพราะบางครั้งอาจไม่ใช่เชื้อราแต่เป็นเชื้อตัวอื่น จึงทำให้การรักษาไม่ดีเท่าที่ควร 

สำหรับเด็กๆ การติดเชื้อราที่เล็บพบได้น้อยราย แต่ก็ต้องอย่างลืมสังเกตเล็บของลูกอยู่เสมอเช่นกัน 

 แผลหนอง ถ้าพบว่ามีแผล หรือหนองตามบริเวณขอบเล็บ ศัพท์ทางการแพทย์จะเรียกว่า โรคพาโรไนเคีย ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ผิวหนังบริเวณขอบเล็บ และโคนเล็บ อักเสบ เกิดเป็นแผลหนอง โดยมากมักเกิดการเด็กๆ ที่ติดการดูดนิ้ว อมนิ้วนานๆ กัดเล็บ (ช่วงวัย 1-3 ปี) หรือเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยซุกซนชอบเล่นโดยการเอานิ้วถูไถไปมา จนขอบหนังด้านข้างย่นเข้าไป หรือชอบเล่นน้ำ เอามือแช่น้ำนานๆ เป็นต้น 

โดยแรกเริ่มจะมีอาการบวมแดง เจ็บ และเกิดหนองในที่สุด ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นตั้งแต่เริ่มแรก ควรรีบพาไปพบคุณหมอ โดยคุณหมอมักจะให้ยาฆ่าเชื้อ ถ้ามีหนองแล้วก็อาจจะเจาะหนองออก ถ้ารักษาตั้งแต่เริ่มต้นอาการก็จะไม่ลุกลาม และรักษาหายได้ ถ้าอาการลุกลาม อาจจะเกิดถึงขั้นติดเชื้อรา ซึ่งจะรักษายากขึ้นและใช้เวลานานมาก

รักษาเบื้องต้น

  • ต้องคุมพฤติกรรมการใช้นิ้วมือของลูกน้อย เช่น เบี่ยงเบนลูกไม่ให้อม กัด หรือดูดนิ้ว หลีกเลี่ยงไม่ให้โดนน้ำนานๆ เล่นดิน ทราย หรือสารเคมี เช่น ผงซักฟอก 
  • บรรเทาอาการให้ลูกโดยการแช่มือให้น้ำอุ่นประมาณ 5 นาที เช็ดให้แห้ง วันละ 2-3 ครั้ง และเช็ดแผลทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือล้างแผล 

เกิดจากโรคอื่นๆ 

เด็กบางคนอาจมีโรคประจำตัว หรือภาวะความผิดปกติอื่นๆ แต่แสดงออกมาทางเล็บได้ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ภาวะขาดวิตามิน การขาดสารอาหาร ซึ่งจะปรากฏลักษณะต่างๆ ที่เล็บแตกต่างกันออกไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นผู้สังเกต เช่น เล็บเกิดมีหลุมเล็กๆ ขึ้นมา สีเล็บเปลี่ยนไป เล็บมีร่องรอย เมื่อเห็นแล้วอย่ารอช้าหรือนิ่งนอนใจ ควรปรึกษาคุณหมอทันที เพื่อตรวจเช็คสุขภาพอื่นไ 

วิธีดูแลเล็บลูกน้อย 

ความจริงแล้วเล็บของเด็กๆ ดูแลได้ไม่ยาก แต่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอ 

  • ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ โดยไม่ตัดจนติดเนื้อมากเกินไป เล็บมือจะยาวเร็วกว่าเล็บเท้า และการตัดเล็บต้องตัดให้ถูกต้อง
  • ล้างมือลูกให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง ถ้าลูกโตขึ้นมาก็ต้องสอนให้หมั่นล้างมือให้ติดเป็นนิสัย 
  • เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับนิ้วมือหรือเล็บ อย่านิ่งนอนใจ ต้องคอยสังเกตลักษณะที่เปลี่ยนไปด้วย 
  • ถ้าลูกเล็กมีแนวโน้มที่จะติดการดูดนิ้ว ต้องแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ โดยการเบี่ยงเบนความสนใจของลูกให้ไปทำกิจกรรมอื่นๆ 
  • อย่าให้ลูกจับหรือเล่นสารเคมีที่เป็นอันตราย ต้องเก็บให้มิดชิดเสมอ 

วิธีตัดเล็บให้ลูกตัวน้อย 

  • สำหรับเด็กเล็กๆ ควรตัดเล็บในช่วงที่ลูกนอนหลับ ใช้กรรไกรตัดเล็บสำหรับเด็ก 
  • จับนิ้วลูกให้ถนัด และกดเนื้อบริเวณปลายนิ้ว เพื่อให้เห็นแผ่นเล็บได้ถนัด 
  • ตัดเล็บมือเป็นแนวโค้งตามรูปนิ้ว แต่ไม่ต้องชิดโคนด้านในมากเกินไป ส่วนเล็บเท้าตัดเป็นแนวตรง 
  • ถ้าลูกเป็นมีเล็บฉีดขาดเพียงนิด ก็ต้องรีบตัดส่วนที่ฉีกขาดออก ป้องกันการเกิดบาดแผล 
ฐิติพันธุ์ชมสว่างเป็นผู้ฝึกสอน CrossFit อายุ 40 ปีจากประเทศจีนฮ่องกง เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 15 ปีก่อน เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีและมีรูปร่าง เธอแต่งงานแล้วและมีลูกชายคนแรกและใช้เวลาว่างของเธอในการฝึกซ้อมมาราธอน
ฐิติพรรณ จอมสว่าง