ชวนตี๋น้อย หมวยเล็ก รู้จักเทศกาลตรุษจีน

5/5 - (1 vote)

ชวนตี๋น้อย หมวยเล็ก รู้จักเทศกาลตรุษจีน

เทศกาลตรุษจีนถือเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ในทุกปีจะมีการเฉลิมฉลองกันทั่วประเทศ ในบางปีทางรัฐบาลจีนประกาศเป็นวันหยุดยาวถึง 10 วัน แม้กระทั่งชาวจีนโพ้นทะเลก็นำวัฒนธรรมการฉลองนี้ติดตัวมาถ่ายทอดสู่ลูกหลานคนจีนรุ่นใหม่

สำหรับลูกหลานชาวจีนในเมืองไทย ส่วนใหญ่ยังยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้อยู่ แม้บางอย่างถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยแต่คุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่ก็ยังคงถ่ายทอดเทศกาลนี้ไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้ โดยไม่ลืมความสำคัญของเทศกาลตรุษจีนว่าจัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลขึ้นปีใหม่ เป็นการอวยชัยให้พรกันเพื่อความเป็นสิริมงคล ญาติพี่น้องได้พบปะสังสรรค์ และได้เริ่มวันใหม่ของปีใหม่ด้วยการคิดดี พูดดี ทำดีต่อกัน

สำหรับความเป็นมาแต่โบราณของเทศกาลตรุษจีนนั้น อ. สุขสันต์ วิเวกเมธากร ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศจีน และมีผลงานเขียนเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมจีนมากว่า 80 เล่ม เป็นผู้ถ่ายทอดให้ฟังทั้งที่มาของวันตรุษจีน และการฉลองเทศกาลตรุษจีน

เดิมทีตรุษจีนไม่ใช่วันที่ดี คือวันตรุษจีนตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 (ปีนี้ตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์) ชาวจีนถือเป็นการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ตั้งแต่โบราณแม้จะเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม อากาศยังหนาวเย็น และแห้งแล้งอยู่ คนไม่ค่อยมีอาหารกิน นอนไม่ค่อยหลับ จึงต้องนั่งผิงไฟ จิบน้ำชา ปิ้งอาหารกิน ทีนี้ ก็มีสัตว์ประเภทหนึ่ง ชื่อว่าเหนียน (ภาษาแต้จิ๋วออกว่านี้ แปลเป็นไทยว่าปี) ตัวเหมือนแรดโบราณ มีนอเดียว พอมันได้กลิ่นอาหาร ก็มาแย่งกินอาหารจากคน ปรากฏว่ามีตัวหนึ่งซุ่มซ่าม เผลอเหยียบใส่กองไฟ แล้วตกใจวิ่งหนีไป จากนั้น ก็มีคนหัวดีคนหนึ่งคิดว่าเหนียนมันกลัวไฟ และกลัวเสียงดังด้วย เลยเป็นประเพณีว่าต้องจุดประทัด พอจุดประทัดทุกปีมักจะมีไฟไหม้ เลยคิดกันว่าไม่ต้องจุดประทัดก็ได้ เขียนลงบนกระดาษแดงซึ่งเหมือนกับไฟแทน แล้วมีการตีเกราะเคาะไม้ด้วย เพื่อใช้หลอกตัวเหนียน จากนั้น เหนียนตัวนี้มันก็เปลี่ยนนิสัย จากดุร้ายกลายเป็นดี คนเองก็รู้สึกว่าสัตว์มันก็หิวเหมือนกันนะ จึงให้อาหารมันกิน เอามาเลี้ยงไว้ที่บ้าน เรียกชื่อใหม่ว่าซินเหนียน (คำว่าซิน แปลว่าใหม่) จากฤดูใบไม้ผลิที่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นการเพาะปลูก คนกลัวว่าอากาศจะหนาวเย็นเกินไป กลัวว่าจะมีสัตว์ร้าย พอสัตว์เปลี่ยนพฤติกรรมไป คนจึงเริ่มต้นการฉลอง นี่จึงเป็นที่มาของการฉลองสิ่งดีๆ ไล่สิ่งที่ไม่ดีออกไป”

3 คำถามก่อนเริ่มต้นฉลองเทศกาลตรุษจีน

1.การฉลองตรุษจีน

คนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน รู้จักกัน แต่อาจทะเลาะเบาะแว้ง กระทบกระทั่งกันบ้างในระหว่างปี การได้มานั่งล้อมวงคุยกัน ดื่มน้ำชา กินขนม ที่เราเรียกว่าขนมเข่ง (จริงๆ ไม่เรียกว่าขนมเข่ง คนจีนเรียกว่าเหนียนกาว กาวแปลว่าขนม ดังนั้น เหนียนกาวจึงแปลว่าขนมประจำปี ) ทำมาจากข้าวเหนียวเพื่อความแน่นเหนียว ปั้นเป็นลูกกลมๆ เพื่อความกลมเกลียว และทำให้หวานเป็นพิเศษ ใส่กันมาเป็นเข่งเพื่อแบ่งให้กับเพื่อนบ้าน หรือบ้านที่ไม่มีกินด้วย เกิดความสมานฉันท์ เลิกทะเลาะกัน คนที่แยกย้ายกันไปที่ไหนก็ตาม ต้องกลับมาในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

2. ที่มาของวันจ่าย วันไหว้ และวันถือ

หลังจากที่มีสังคมกว้างขึ้น ก็ไม่รู้กันว่าบ้านไหน ไหว้หรือยัง ซื้ออะไรยังไง ก็เลยตกลงกันเป็นเรื่องเป็นราวว่าพ่อไหว้วันไหน ปู่จะไหว้วันไหน สรุปก็คือว่า วันที่จะจ่ายคือวันที่ 29 พอวันที่ 30 จ่ายเสร็จแล้วก็ไหว้แล้วล้อมวงกินกัน ถึงวันที่ 1 ก็ไปเที่ยว ทำอะไรให้สบายที่สุด ถือโอกาสว่าเหนื่อยมาทั้งปี แล้วปีใหม่จึงหยุดทำงาน 1 วัน แล้วก่อนถึงวันตรุษจีน เขาเก็บกวาดบ้านล่วงหน้าไว้แล้ว 7 วัน พอถึงวันตรุษจีนเขาจะไม่จับไม้กวาดเลย เพราะถือสิ่งที่อัปมงคล

3. ความสำคัญของของไหว้

แม้จะมีธรรมเนียมปฏิบัติและความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับของไหว้ที่ใช้ในเทศกาลตรุษจีน แต่ความเชื่อเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลัง สิ่งที่ควรคำนึงคือต้องเป็นสิ่งที่ไม่เกินกำลัง ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมา ใครมีอะไรก็เอามาล้อมวง แบ่งปันกัน ที่สำคัญคือ หนึ่ง จิตใจดี สอง หากเคยทะเลาะเบาะแว้งกันก็ขอให้ดีกัน สาม มีน้ำใจ แบ่งปันกัน ไปเที่ยวด้วยความสนุก ความปลอดภัย มีกินมีใช้ รู้จักแบ่งปันให้ผู้อื่น อย่ากินทิ้งกินขว้าง หากเราทุกคนคิดในสิ่งที่ดี สิ่งดีๆ นั้นก็จะกลับมาหาตัวเราเอง

Mother & Care ก.พ.2551

ฐิติพันธุ์ชมสว่างเป็นผู้ฝึกสอน CrossFit อายุ 40 ปีจากประเทศจีนฮ่องกง เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 15 ปีก่อน เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีและมีรูปร่าง เธอแต่งงานแล้วและมีลูกชายคนแรกและใช้เวลาว่างของเธอในการฝึกซ้อมมาราธอน
ฐิติพรรณ จอมสว่าง