EQ สำคัญกว่า IQ จริงหรือ!

5/5 - (1 vote)

EQ สำคัญกว่า IQ จริงหรือ!

 ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ E.Q. เป็นส่วนสำคัญต่อตัวเด็ก เด็กจะมีพฤติกรรมหรือนิสัยอย่างไร ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นหลักใหญ่ ดังนั้น การให้ความสำคัญในเรื่องของอีคิวกับลูกตั้งแต่เล็ก จะช่วยให้เด็กอยู่ในสังคมข้างหน้าอย่างมีความสุขทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น

พ.ญ.กมลชนก เหล่าชัยศรี จิตแพทย์ศาสตร์เด็กและวัยรุ่น กล่าวไว้ในบทความ EQ สำคัญกว่า IQ? ไว้ว่า การศึกษาช่วงหลังๆ พบว่าระดับ IQ เป็นปัจจัยบ่งชี้ ความสุขสำเร็จในชีวิต เพียงแค่ 20 % เท่านั้นเอง ถ้าสังเกตดูเคสที่ประสบความสำเร็จในครอบครัว และหน้าที่การงานเมื่อถามย้อนหลังสมัยเรียนไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนที่คะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด  ในทางกลับกันคนที่เรียนเก่งที่สุด ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิตสูงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน สังคม หรือครอบครัว มีอะไรอีกที่เป็นปัจจัยบ่งชี้ความสุข 

ความสำเร็จในชีวิตของคนเรา ลูกหลานของเราช่วงอายุ 5 – 10 ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาและการให้ความสำคัญ เรื่อง EMOTIONAL INTELLIGENCE ซึ่งแปลเป็นไทย หมายถึง ความฉลาดหรือวุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ การศึกษาบ่งชี้ว่า EI มีผลต่อความเป็นสุขสำเร็จในชีวิต มากกว่าระดับสติปัญญาด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะระดับ IQ มักจะกำหนดมาแล้วตั้งแต่เกิด การเลี้ยงดูมีส่วนบ้างแต่ไม่มาก ในขณะที่ EI สอนได้ในทุกคน ทุกวัย ทุกระดับ IQ ซึ่งคุณหมอแนะนำไว้ดังนี้ค่ะ

1.  การรู้อารมณ์ตนเอง (Knowing one’s emotions)

ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของตนเอง ในขณะที่กำลังมีอารมณ์อยู่เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการเข้าใจตนเอง คนส่วนใหญ่เวลาโกรธมักไม่รู้ตัวแต่จะโวยวายก่อนแล้วจึงมารู้ตัวทีหลังว่า เมื่อกี้กำลังโมโห อย่างนี้คือไม่รู้อารมณ์ตนเอง การรู้อารมณ์ตนเอง คือต้องรู้ว่าตนเองกำลังโกรธในขณะที่กำลังโกรธอยู่ คนไม่รู้จักอารมณ์ตนเอง มักตกเป็นทาสอารมณ์นั้นๆ 

ในขณะที่คนที่รู้อารมณ์ตัวเองมักเลือกแนวทางชีวิตได้ดีกว่าเพราะรู้ตัว มีสติ รู้ความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง  เกี่ยวกับทุกๆ อย่างไม่ว่าจะหน้าที่การงานหรือครอบครัว การเลี้ยงลูกให้รู้จักอารมณ์ตัวเองฝึกได้ตั้งแต่เริ่มรู้ภาษา ฟังเราเข้าใจ ถ้าพ่อแม่สังเกตว่าลูกกำลังดีใจ พอใจ ก็สอนให้รู้อารมณ์  โดยบอกว่าหนูดีใจใช่ไหม ดีใจจังเลยนะลูกนะ เวลาสังเกตว่าลูกโกรธก็สอนเขาว่านี่หนูกำลังโกรธ   หนูไม่ชอบใช่ไหม กว่าลูกจะเริ่มพูด เขาก็จะมีความเคยชินและทักษะในการตั้งชื่อและให้ชื่ออารมณ์ต่างๆ ของตนเอง ว่ากำลังโกรธ เสียใจ หรือดีใจก็ตาม 

2.  การบริหารจัดการอารมณ์ตนเอง (Managing one’s emotion)

การบริหารจัดการอารมณ์ตนเอง หมายถึง การรู้และให้ความสำคัญอารมณ์ตนเอง และรู้จักปรับอารมณ์ให้อยู่ในภาวะสมดุล หรือในภาวะที่เหมาะสมกับเหตุการณ์นั่นเอง การมีอารมณ์น้อยเกินไป ทำให้ชีวิตจืดชืด ส่วนการมีอารมณ์มากจนคุมไม่อยู่ ก็กลายเป็นโรคได้ เช่น  โรคซึมเศร้า วิตกกังวล และอื่นๆ การรู้จักปลอบโยน หรือคลายเครียดให้ตนเอง ฝึกได้ตั้งแต่เด็กเล็ก มักจะเรียนรู้การปลอบตัวเองจากการเลียนแบบ วิธีที่พ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูปลอบโยนเขา 

3.  การรู้จักสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง (Motivating oneself)

ส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของ EI คือ การรู้จักถึงอารมณ์และความต้องการของตนเอง เอามาบริหารให้บรรลุถึงจุดหมาย คนเรามีกิเลส ความต้องการ ความปรารถนาทุกคน แต่มักขาดทักษะในการให้ได้สนองความต้องการนั้นๆ อย่างเหมาะสม 

การมีทักษะในการรอคอย อดทน เพื่อบรรลุเป้าหมาย ฝึกได้ตั้งแต่เด็กๆ เช่น การสอนเด็กอายุ 4 ปีว่า ถ้าอยากได้ขนมแค่ 1 ชิ้น ก็ให้ได้เลย  แต่ถ้าต้องการ 2 ชิ้น ต้องอดทนรอประเดี๋ยว การศึกษาพบว่าเด็กที่รู้จักรอคอยเพื่อจะได้ขนม 2 ชิ้น  ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ดีกว่าทั้งในด้านการเรียนและการคบเพื่อน

4.  การรู้อารมณ์ผู้อื่น (Empathy)

การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราหรือการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่นจะช่วยให้คนเราปรับตัวได้ดีกว่า  ทำให้เป็นคนมีเสน่ห์ มีเพื่อน และมีสายสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดีกว่า การมี Empathy ยังมีความสำคัญต่อการสอนจริยธรรม และการป้องกันการเกิดอาชญากร เพราะอาชญากรรรมมักเกิดจากการที่ อาชญากรไม่เห็นอกเห็นใจเหยื่อของตนนั่นเอง การสอนเด็กให้ทำดี เพราะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ให้รู้จักเอาใจเพื่อนมาใส่ใจเรา จะช่วยให้เด็กมีเพื่อนและเป็นคนดีของสังคม 

5.  การรู้จักบริหารจัดการอารมณ์ผู้อื่น (Managing emotions in others)

ความสามารถในการจัดการอารมณ์ผู้อื่น วัดได้จากความสามารถและทักษะในการทำให้อารมณ์ของผู้อื่นรู้สึกดีมีความสุข ย่อมเป็นที่ชื่นชอบของผู้อื่น เป็นผู้นำได้ และจะมีประสิทธิภาพในการ  บริหารองค์กรและครอบครัวได้ดี 

เด็กๆ จะฝึกทักษะนี้ได้จากการหัดให้กำลังใจเพื่อน หรือแม้กระทั่งหัดปลอบใจคนใกล้ตัว เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง การที่จะมี EI ฝึกได้ตั้งแต่เล็ก คนโตแล้วก็สอนได้เช่นกัน EI ของแต่ละคนพัฒนาได้ และผู้เขียนอยากจะเชียร์ให้ทุกคนฝึกฝน ให้ตนเองมี EI ให้มากๆ   เพื่อความสุข และความสำเร็จในชีวิตอย่างแท้จริง 

 

Cr ข้อมูล : รพ.ไทยนครินทร์ โดย พ.ญ.กมลชนก เหล่าชัยศรี จิตแพทย์ศาสตร์เด็กและวัยรุ่น

 

ฐิติพันธุ์ชมสว่างเป็นผู้ฝึกสอน CrossFit อายุ 40 ปีจากประเทศจีนฮ่องกง เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 15 ปีก่อน เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีและมีรูปร่าง เธอแต่งงานแล้วและมีลูกชายคนแรกและใช้เวลาว่างของเธอในการฝึกซ้อมมาราธอน
ฐิติพรรณ จอมสว่าง