เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ ‘เกาะพ่อแม่กิน’

5/5 - (1 vote)

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ ‘เกาะพ่อแม่กิน’

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เกาะพ่อแม่กิน‘?

ตั้งแต่ภรรยาเริ่มตั้งท้อง เราก็วางแผนในการเก็บเงิน หยอดกระปุกให้ลูกแฝดเป็นประจำทุกเดือน เพราะรู้ดีว่าหากเริ่มเก็บเงินตอนเขาโตคงจะสายไปเสียแล้ว โดยเฉพาะโลกแห่งอนาคตที่เรามิอาจทราบได้เลยว่า ภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพจะทำให้เงินด้อยค่าลงไปอีกสักแค่ไหน อีก 20 ปีข้างหน้า เงินหลักล้านบาทที่ดูว่าเยอะในปัจจุบัน อาจไม่เพียงพอสำหรับลูกซึ่งกลายเป็นผู้ใหญ่ เข้าสู่วัยทำงานและต้องการสร้างเนื้อสร้างตัว ลงหลักปักฐาน

 

ฝั่งคุณพ่อผมซึ่งอยู่ในวัย 75 ปี แต่ยังทำงานอยู่ทุกวัน ก็บอกย้ำพร่ำเตือนเราสองคนว่า นอกจากเก็บเงินให้ลูกแล้ว ต้องเก็บเงินให้ตัวเองไว้ยามเกษียณด้วย เพราะถึงเวลานั้นไม่ใช่ลูกจะเป็นภาระเรา แต่เราต่างหากจะเป็นภาระให้ลูก

 

อีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้าในปี 2568 หรือ ..2025 กระทรวงสาธารณสุขเขาบอกว่า สังคมไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีการคาดหมายว่า ในปีดังกล่าวประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ ซึ่งหมายความถึงคนอายุเกิน 60 ปี (บางเกณฑ์ใช้ 65 ปี) ขึ้นไปประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มสูงเกินกว่าระดับร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด [1]

 

ในปี 2568 จำนวนผู้สูงอายุในทวีปเอเชียทั้ง ประเทศไทย จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนามจะเพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2540 ถึงสองเท่า ขณะที่จำนวนประชากรรุ่นใหม่ที่เข้าสู่วัยทำงานก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว ภาวการณ์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหารอบด้าน ทั้งสังคมและเศรษฐกิจ เพราะประชากรวัยทำงานที่จะต้องสร้างผลิตผลเพื่อมาสนับสนุนการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุที่อยู่ในวัยเกษียณก็จะน้อยลง ภาระของสังคมในการดูแลเรื่องสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุก็จะหนักขึ้น

 

ในส่วนของประเทศจีน มีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 จำนวนประชากรจีนจะขึ้นถึงจุดสูงสุดแตะระดับ 1,400 ล้านคน และลดจำนวนลงเรื่อยๆ เหลือ 1,300 ล้านคนในปี 2593 หรือ ..2050 โดยในปัจจุบันจีนเองก็เข้าสู่เส้นทางของการเป็นสังคมผู้สูงอายุเช่นกัน เพราะ สิ้นปี 2557 จีนมีประชากรกว่า 212 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.5 ที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และมีการคาดหมายด้วยว่าผู้สูงอายุจีนจะเพิ่มขึ้นอีก 10 ล้านคนทุกปี [2]

 

โปสเตอร์รณรงค์ต่อต้านเขิ่นเหล่าจู๋ในจีนระบุข้อความว่าดูดกินเลือดเนื้อ หยาดเหงื่อพ่อแม่เสียจนแห้งเหือด คุณใจร้ายขนาดนั้นเลยหรือ?

 

 

กระนั้นเมื่อผมได้อ่านข่าวล่าสุด กลับพบว่าก่อนที่ผู้สูงอายุจะกลายเป็นประชากรกลุ่มที่ก่อให้เกิดปัญหาในการดูแลทางสังคมกลุ่มคนรุ่นใหม่ต่างหากที่ชิงก่อปัญหาให้กับสังคมจีนเสียก่อน

จีนคิดค้นศัพท์เฉพาะเพื่อเรียกหาคนเหล่านี้ว่าเขิ่นเหล่าจู๋ (啃老族)” โดยคำว่าเขิ่น ()” จริงๆ แล้วแปลว่า กัด แทะ ตอด ส่วนเหล่า ()” นั้นหมายถึงผู้สูงอายุ ส่วนจู๋ ()” นั้นแปลว่าเผ่าพันธุ์ ซึ่งหากให้ผมถอดความแบบเข้าใจง่ายๆ ศัพท์นี้ก็น่าจะแปลเป็นไทยได้ว่ากาฝากผู้สูงอายุ

 

สังคมและสื่อจีนให้คำจำกัดความของเขิ่นเหล่าจู๋ว่าคือกลุ่มคนในวัยทำงาน อายุ 23-30 ปีที่หางานไม่ได้ เลือกที่จะไม่ทำงาน หรือเคยทำงานแล้วลาออกมาโดยใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน โดยพึ่งพาที่พักอาศัยและอาหารการกินจากพ่อแม่เป็นหลัก เรียกง่ายๆ ว่าเกาะพ่อแม่กินนั่นแหละ

 

การ์ตูนล้อเลียนกาฝากผู้สูงอายุของสื่อจีน

 

ฟังดูคุ้นๆ ไหมครับ?

จริงๆ ในโลกตะวันตก หรือในญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ก็มีการแยกแยะและบัญญัติศัพท์เพื่อเรียกหาคนกลุ่มนี้มาแล้ว โดยในอังกฤษใช้คำว่า NEET ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Not in Education, Employment, or Training” โดยกำหนดช่วงอายุของคนกลุ่มนี้ไว้ที่ 16-24 ปี ส่วนในญี่ปุ่นใช้คำว่า ฟรีเตอร์ (Freeters) หรือ คนที่ประกอบอาชีพอิสระไม่มีงานประจำแน่นอน โดยญี่ปุ่นกำหนดช่วงอายุของคนกลุ่มนี้ไว้กว้างกว่าอังกฤษคือ 15-34 ปี

 

การเกิดขึ้นของ NEET ในอังกฤษ Freeters ในญี่ปุ่น และ เขิ่นเหล่าจู๋ในจีน นั้นมาจากสิ่งที่เรียกว่า เศรษฐกิจใหม่ (New Economy) และความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลังยุคอุตสาหกรรม (Post-industrial Society) ซึ่งพลิกระบบการผลิตจากผลิตแบบจำนวนมากๆ เป็นระบบการผลิตบนฐานความรู้และการสร้างนวัตกรรมใหม่ สิ่งเหล่านี้บีบคั้นคนรุ่นใหม่ให้หาทางออกด้วยการใช้ชีวิตในวิถีฟรีแลนซ์ หรือ การประกอบอาชีพอิสระไม่มีงานประจำแน่นอน

 

ในจีนเองกาฝากผู้สูงอายุนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในสังคมเมือง มีการประเมินว่ามีคนรุ่นใหม่กว่าร้อยละ 30 ดำรงชีวิตด้วยการเกาะพ่อแม่กิน และครอบครัวคนจีนในเมืองกว่าร้อยละ 65 ประสบปัญหานี้ โดยปัญหานี้เองกำลังก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ และรอวันปะทุในอนาคตอันใกล้

 

เดือนมกราคม 2559 มีรายงานจากไชน่า เดลี่ ระบุว่า สภาประชาชนของมณฑลอันฮุยซึ่งอยู่ทางตะวันออกของจีน เพิ่งผ่านร่างกฎหมายเพื่อป้องกันกาฝากผู้สูงอายุมิให้มากัดแทะ หรือ เกาะพ่อแม่กินได้ง่ายๆ อีกต่อไป โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2559 [4]

 

ผู้ใหญ่ซึ่งมีความสามารถในการดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเองไม่สามารถจะเรียกร้องเงินสนับสนุนจากพ่อแม่ หากพ่อแม่ไม่มีความประสงค์ที่จะให้ตอนหนึ่งของกฎหมายฉบับดังกล่าวระบุ

ทั้งนี้ข่าวดังกล่าวยังยกตัวอย่างปัญหาด้วยว่า สิบกว่าปีก่อน ชาวนานามจู เจิ้งเหว่ย วัย 77 ปี ถูกบุตรชายคนเล็กวัย 26 ปีเรียกร้องเงินมูลค่าราว 90,000 หยวน หรือราว 5 แสนบาทเพื่อนำไปซื้ออพาร์ทเมนต์ในเมืองเป็นสินสอดแต่งงาน โดยผู้เฒ่าซึ่งประกอบอาชีพชาวนามาชั่วชีวิตและมีเงินเก็บเพียงน้อยนิด ต้องหยิบยืมเงินจากญาติๆ และเพื่อนๆ เพื่อนำมาให้ลูกชาย โดยกว่าที่จะชดใช้เงินที่ยืมมาได้หมดก็ต้องใช้เวลากว่า 5 ปี

 

ก่อนหน้านั้นในปี 2557 ก็มีข่าวทำนองนี้โดยหนุ่มนายแบบวัย 29 ปีจากเมืองฉางซา มณฑลหูหนาน ซึ่งมีวุฒิการศึกษาเพียงระดับชั้นประถมศึกษาขู่จะฟ้องพ่อแม่ของเขาในข้อหาไม่สนับสนุนเลี้ยงดู ขณะที่พ่อซึ่งทำงานก็โต้ว่าลูกชายวัย 29 เรียกร้องขอเงินบ่อยๆ จนตัวเองไม่สามารถให้ได้อีกแล้ว [5]

 

จากสถานการณ์และปัญหากาฝากผู้สูงอายุ เช่นข้างต้นที่สั่งสมมานานหลายปีทำให้สื่อจีนแยกแยะและจัดแบ่งเขิ่นเหล่าจู๋หรือกาฝากเหล่านี้ออกเป็น 6 กลุ่มด้วยกันคือ

หนึ่ง บัณฑิตที่เรียนจบมหาวิทยาลัย แต่ว่างงานเนื่องจากเลือกงานและหางานที่ถูกใจไม่ได้ คนกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20

 

สอง กลุ่มคนที่เครียดกับการทำงาน อ้างว่าปรับตัวไม่ได้ จึงลาออกจากงาน เพราะคิดว่าอยู่ที่บ้านสบายกว่า คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10

 

สาม คนรุ่นใหม่ที่คาดหวังว่าจะมีกิจการเป็นของตัวเอง เป็นนายตัวเอง แต่ขาดปัจจัยต่างๆ ทั้งความสามารถ ประสบการณ์ กำลังทรัพย์ ทว่าไม่ต้องการจะเป็นลูกจ้างใคร คนกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20

 

สี่ กลุ่มคนที่ย้ายงานเปลี่ยนงานบ่อย จนในที่สุดหางานไม่ได้ ต้องอาศัยพ่อแม่ในการดำรงชีวิต คนกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10

 

ห้า บรรดาคนรุ่นใหม่ที่ตกงาน แต่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ ยังเคยชินกับการทำงานสบายๆ ไม่ต้องการทำงานที่เคร่งเครียด กดดัน สุดท้ายจึงว่างงาน คนกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10

 

หก กลุ่มคนที่การศึกษาน้อย ทักษะอาชีพต่ำ จึงไม่สามารถหางานดีๆ ได้ เหลือแต่งานต้องใช้แรงงาน ทว่า เจ้าตัวกลับกลัวงานหนัก หวั่นงานเหนื่อย หนักไม่เอาเบาไม่สู้สุดท้ายก็ไม่มีงานอะไรให้ทำ จึงว่างงานอยู่กับบ้าน คนกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30

10 ทักษะที่จำเป็นในการทำงานในปี ..2020 เปรียบเทียบกับปี ..2015

 

เมื่อต้นปี 2559 เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF) เผยแพร่รายงานระบุว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2563 (..2020) ทักษะในการทำงานที่จำเป็นสำหรับมนุษย์เราจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบันไม่น้อย เพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่น หุ่นยนต์, ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง, ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักรกล, วัสดุขั้นสูง, เทคโนโลยีชีวภาพและการศึกษาเรื่องยีน จะกลายเป็นเรื่องแพร่หลาย สิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อวิถีการใช้ชีวิตและการทำงานของพวกเราอย่างมาก อาชีพบางอย่างจะหายไป อาชีพบางอย่างจะเกิดขึ้นใหม่ รวมไปถึงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาและให้การศึกษาของคนรุ่นลูกรุ่นหลานเราอย่างมหาศาล [6]

 

WEF ระบุด้วยว่าทักษะที่จะขึ้นมามีความสำคัญสุดๆ ก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creativity ซึ่งเป็นทักษะที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำแทนมนุษย์ได้ ขณะเดียวกันทักษะอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงก็คือ Learn, Unlearn, Relearn หรือ การเรียนรู้สิ่งใหม่ การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา และการเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ๆ

 

นอกเหนือจากทักษะพื้นฐานเหล่านี้ อีกทักษะหรือทัศนคติที่ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง วันนี้จะต้องฝึกฝนลูกตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อมิให้เขาเติบโตมากลายเป็นภาระหรือเป็นกาฝากของสังคม ก็คือขันติหรือ ความอดทนต่อการเปลี่ยนแปลงและความยากลำบากต่างๆ ที่เข้ามากระทบ

 

เมื่อทุกสิ่งในโลกล้วนไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ความฝึกทักษะความอดทนต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้น รวดเร็วขึ้นจึงมิอาจหลีกเลี่ยงได้

 

อ้างอิง :

[1] ..2568 ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว, http://www.hfocus.org/content/2014/12/8970

[2] Xinhua, Challenges, opportunities seen in China’s aging population, 31 Aug 2015.

[3] 啃老族, http://www.baike.com/wiki/%E5%95%83%E8%80%81%E6%97%8F

[4] China Daily, Senior safeguarded against children’s financial demands, 27 Jan 2016.

[5] China Daily, Man, 29, sues parents for not looking after him, 29 Aug 2014.

[6] Weforum.org, The 10 skills you need to thrive in the Fourth Industrial Revolution·, 19 Jan 2016.

 

Text : วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

 

 

Mother & Care Free Mag VOL.12 NO.135

ฐิติพันธุ์ชมสว่างเป็นผู้ฝึกสอน CrossFit อายุ 40 ปีจากประเทศจีนฮ่องกง เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 15 ปีก่อน เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีและมีรูปร่าง เธอแต่งงานแล้วและมีลูกชายคนแรกและใช้เวลาว่างของเธอในการฝึกซ้อมมาราธอน
ฐิติพรรณ จอมสว่าง